จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

เสวนาหลังน้ำท่วมลพบุรี ๒๕๕๔


        
            เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. กรรมการบริหารชมรมรักลพบุรี ประกอบไปด้วย นายอำนวย จั่นเงิน (ประธานชมรมฯ) นายอดุลย์ พวงภู่ (กรรมการประสานงานอำเภอเมืองลพบุรี) นางสาวบุญเรือน จันทศรีคำ (รองประธานชมรมคนที่ ๑) นางชูจิต วรรณศิริ (เหรัญญิก) นางสาวดวงกมล จิระตราชู (เลขานุการ) นางสาวพรธิดา เวียงสงค์ (ทะเบียน) ได้นัดพบปะพูดคุยกันกับนายเชาว์วัช หนูทอง คนดีศรีลพบุรี สาขาเกตรกรรม พ.ศ ๒๕๕๑ ที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายเกษตรกรรมไร้สารพิษ ละโว้ธานี ในหัวข้อการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เพื่อสอบถามองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ นำไปเผยแพร่ให้กับสาธารณชนทั่วไป และนำไปใช้กับผู้ประสบอุทกภัยและเกษตรกรทั่วไป





นายอำนวย :  ระดับน้ำในนาควรจะเหลือเท่าไหร่จึงจำทำนาโยนได้

นายเชาว์วัช : เทคนิคนาโยนนี้สมเด็จพระเทพ ฯ ทรงนำมาเผยแพร่ไว้ ผมได้นำมาต่อยอดให้กว้างขวางขึ้น
              เมื่อระดับน้ำในแปลงนามีขลุกขลิก ก็ย่ำให้เละ กดตอต้นข้าวเก่าให้จม จะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น หลังจากนั้นโยนกล้าได้เลย เมื่อผ่านไป ๓-๔ วัน ค่อยปล่อยน้ำลงในนาข้าวใหม่ 
                  ข้าวกล้าที่เพาะในกระบะใช้เวลา ๑๕-๒๐ วัน ข้าวพันธ์ที่นิยมปลูก คือ กข.๓๑ หรือปทุมซีโอ  มีอายุ  ๑๐๕ วันเก็บผลผลิตได้ ถ้าเพาะกล้าในกระบะจะลดเวลาไปเหลืออายุเก็บเกี่ยวประมาณ ๙๐ วันจะทำให้ได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น 
              ในเวลานี้น่าจะทำให้อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นหลักในการทำนาโยน มีเป้าหมาย ๓๐,๐๐๐ ไร่ เพาะกล้าในกระบะ ๑ งาน สามารถนำไปโยนปลูกข้าวได้ ๒๐ ไร่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำเครื่องมือไปส่งให้ที่บ้านพร้อมแนะนำการเพาะและจัดอุปกรณ์ไปให้ ถือว่าเป็นการสอนและเรียนรู้ไปพร้อมกัน 
              ถ้าเราคุมระดับน้ำได้ ในนาข้าวจะไม่มีหญ้า ทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งนาหว่านน้ำตมจะมีวัชพืชระบาด ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า 
                   
นายอำนวย :  การทำนาโยนมีการจำกัดพันธ์ข้าวหรือไม่

นายเชาว์วัช :   นาโยนใช้กับข้าวได้ทุกพันธุ์

นายอำนวย :  ข้าวพันธุ์ไหนที่มีประโยชน์ทั้งในด้านการบริโภค และการตลาด

นายเชาว์วัช :  ข้าวพันธุ์ที่กินคือพันธ์ปทุมธานี จะมีกลิ่นหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ ช่วงหลังน้ำท่วมเลยเวลาปลูกข้าวนาปีไปแล้ว ช่วงนี้ต้องเป็นข้าวนาปรังคือ พันธุ์ กข.๔๓ เป็นลูกผสมของข้าวพันธุ์สุพรรณ ๑ กับข้าวหอมสุพรรณ อายุแค่ ๙๕ วัน ใช้วิธีนาโยนจะเหลือ ๘๐ วันในนา แต่ผลผลิตต่อไร่จะต่ำ ข้าวพันธุ์นี้มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดต่ำ หาวิธีลดต้นทุน
            ผมอยากให้ท่าวุ้งเป็นศูนย์กลางในศาสตร์เรื่องการทำพันธุ์ข้าว การทำนาโยนจะทำให้ไม่มีพันุ์ข้าวอื่นปนก็จะนำมาใช้เป็นข้าวพันธุ์ได้ ชาวนาปลูกข้าวขายข้าวเปลือก แต่ต้องซื้อข้าวปลูกมาปลูกซึ่งแพงกว่าอีก ๑ เท่าตัว ชาวนาส่วนใหญ่มีปัญหาขายข้าวเปลือก แต่ต้องมาซื้อข้าวปลูก
           
นายอำนวย :  ข้าวที่ไปใช้ในการบริโภคกับข้าวที่เก็บไว้ใช้ในการเพาะปลูก มีวิธีการปลูกเหมือนกันหรือไม่
             
นายเชาว์วัช :  กรณีเราจะเก็บเป็นข้าวปลูกจะต้องละเอียดขึ้น เราต้องขยันขึ้นคือต้องไปตรวจข้าวปนในแปลงนา คอยสังเกตต้นที่สูงโด่สูงต่ำไม่เท่ากัน ในครั้งแรกควรคัดเลือกแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่น่าเชื่อถือได้ก่อน แล้วมาปลูกแล้วตัดข้าวปน เก็บเกี่ยวแล้วมาตากแห้ง แยกข้าวเมล็ดลีบออก ถึงระยะพักตัวประมาณครึ่งเดือน จึงจะนำมาปลูกเป็นข้าวพันธุ์ได้ แต่ถ้าเป็นข้าวเปลือกที่ปลูกขาย เมื่อเก็บเกี่ยวก็มาแยกเปอร์เซ็นต์ความชื้นแล้วขายได้เลย

นายอำนวย :  ปัญหาปัจจุบันของเกษตรกร คือ ๑. เคยชินกับการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ๒. ใช้ยาปราบศัตรูพืช จะมีแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

นายเชาว์วัช :  ผมทำเกษตรอินทรีย์ นาหว่านน้ำตมในเขตภาคกลาง ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าและคุมหญ้า เพิ่มต้นทุน ค่ายาแลค่าแรง ถ้าไม่ใช้ก็ลดต้นทุนลงไป กระบวนการทำนาโยน ลดตรงนี้ไป เพราะเราเพาะข้าว ทำให้ข้าวโตล่วงหน้าไป ๑๕ – ๒๐ วัน หลังโยนแล้ว ๓ – ๔ วัน เราปล่อยน้ำคุมหน้าดิน ถ้ามีน้ำคุมจะไม่มีหญ้า แต่ถ้าหว่านข้าวไปพอ ๒๐ วันให้น้ำแห้ง แล้วปล่อยน้ำลงไป ซึ่งก็จะมีหญ้าขึ้นเป็นลูกพลุ ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาวนาทุกคนทราบดี
               ต่อมาคืออันตรายต่อสุขภาพ จากการได้รับสารเคมีที่ฉีดพ่นหญ้า นอกจากนี้ก็จะมีสารเคมีตกค้างในเมล็ดข้าว เมื่อนำมาบริโภคก็จะได้รับสารพิษตกค้างเหล่านั้นเข้าไปในร่างกายด้วย เรื่องปุ๋ยเคมี  ก็ทำให้เพิ่มทุนและมีสารตกค้างเช่นกัน
            การทำนาโยนไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ต้นข้าวอยู่ห่างกัน มีผลให้ต้นได้แสงแดด แตกกอได้มาก ที่ผมค้นพบแล้วยังไม่ได้เผยแพร่นักคือ ข้าวที่ผมปลูกเมล็ดเดียว ใช้พันธุ์ข้าวไม่ถึง ๒ ขีด แตกกอถึง ๑๘๕ รวง ต่อ ๑ กอ จากข้าวเม็ดเดียว กอหนึ่งได้เมล็ดข้าว ๙ ขีด คิดเป็นต่อไร่ได้ประมาณ ๕ – ๖ ตันต่อไร่ เราใช้ห้องปฏิบัติการของเราพิสูจน์ว่า เกิดจากอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ ดิน ดินทั่วไปที่ใช้ทำนา มีอินทรียวัตถุเฉลี่ย ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่ดินที่ได้ผลผลิตมาก มีอินทรียวัตถุประมาณ ๘ เปอร์เซ็นต์ มีฟอสเฟอรัสที่ได้จากขี้หมู ขี้ค้างคาวประมาณเกือบ ๒ เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการแตกกอใหญ่ เราได้ข้าวไปขยายพันธ์ไปปลูกได้ประมาณ ๔ ไร่  
            ผมคิดว่าลักษณะฝนแบบนี้ต่อไปอาจจะเป็นเรื่องที่ปกติก็ได้ เราจะต้องพยายามปรับสภาพให้อยู่กับน้ำให้ได้ 
            ทุกสิ่งทุกอย่างเราทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องรวมกลุ่มกัน เรารวมกลุ่มกันของชาวนา อำเภอเมืองส่วนล่าง ตำบลโพธิ์เก้าต้น ตำบลตะลุง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง จับมือกันทำเรื่องศาสตร์เรื่องข้าวให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่กระบวนการปลูก ทำพันธุ์ข้าว กระบวนการแปรรูป ทำข้าวกล้อง ทำน้ำมันรำข้าว 
            ผมไปญี่ปุ่นเพื่อหาแนวทางเพิ่มมูลค่าจากน้ำมันรำข้าว ได้ทราบว่า กากรำได้เปปไทด์หรือเปปทีน น้ำมันรำข้าวมีสารแกรมมาออไรซานอน อิโนซิตอน ที่เห็นเขียนที่ข้างขวดกระทิงแดง และเอ็มร้อยห้าสิบ พวกนี้สกัดมาจากรำข้าว มีเลซิติน กรดฟูราริก และกรดต่าง ๆ อีก ประมาณ ๑๐ ชนิด ที่ได้จากรำข้าว ถ้าเราสกัดสารเหล่านี้ออกมาทำเป็นวิตามิน และอาหารเสริมได้
            ผมมีความสุขกับการมานั่งแกะเมล็ดข้าวทีละเมล็ด ตอนกลางคืนมาก ในการคัดเลือกเมล็ดข้าวกล้อง ส่องดูข้างในไม่ให้มีท้องไข่ เมล็ดยาวเรียวสวย แล้วเพาะข้าวจากข้าวกล้อง เฝ้าดูการเจริญเติบโตตั้งแต่หน่ออ่อน ๆ ค่อย ๆ เกิดราก โดยมีถาดเพาะอยู่ประมาณ ๔๐๐ กว่าหลุม

นายอดุลย์ : การเพาะจากข้าวกล้องไม่ได้เพาะจากข้าวเปลือก ใช้ส่วนไหนของข้าวกล้องมาเพาะได้

นายเชาว์วัช :  แกะข้าวเปลือกออกก็จะเป็นข้าวกล้อง ถ้ามีจมูกข้าวอยู่จะปลูกได้ ถ้าเราปลูกจากข้าวเปลือกจะมองไม่เห็นข้างใน แต่ถ้าแกะเปลือกออกเป็นข้าวกล้อง เราจะเห็นข้างใน ว่ามีท้องไข่ ศัตรูพืช หรือมีจุดแดง เราจะไม่ใช้ และเมล็ดต้องยาวเรียวสวย ตรงนี้ต่อไปจะถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ถ้าเรามีข้าวที่ดีมากเมล็ดเดียว สามารถให้ผลผลิตได้ ๕ ตัน ต่อไร่ ผมกำลังทดลองขยายผลอยู่

นายอำนวย :    เป็นข้าวพันธุ์อะไรครับ

นายเชาว์วัช :  เหมือนฟ้าประทานมา มันเกิดขึ้นเองในแปลงนาของผม ผมเฝ้าดูมาตลอด ผมเห็นกอใหญ่ประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ออกรวงมาต้นเดียวได้ ๙ ขีด

นายอำนวย : ปกติข้าว ๑ เมล็ด ได้ข้าว ๑ ต้น ทำไมจึงได้มากกว่า

นายเชาว์วัช :  นาหว่านน้ำตมปกติ ๑ เม็ด ๑ ต้น ๑ รวง ต้องใช้พันธ์ข้าว ๓ ถังครึ่งต่อไร่ แต่ของเราใช้แค่ ๒ ขีด ต่อไร่ ตอนนี้ผมกำลังยืนยันเชิงประจักษ์อยู่ถึงค่อยจะนำไปเผยแพร่ 

นายอำนวย : ทดลองทำมานานเท่าไหร่แล้ว

นายเชาว์วัช : เก็บเกี่ยวไป ๒ ครั้งแล้ว ได้ผลเหมือนกันทั้ง ๒ ครั้ง ตอนนี้กำลังทำการเพาะปลูกครั้งที่ ๓ อยู่

นายอำนวย :  สาเหตุ อาจจะเป็นที่พันธุ์ข้าว และการทำนาโยน

นายเชาว์วัช : พันธุ์ข้าวมีส่วนมาก ผมเพาะแบบนาโยน คือ ปักดำห่าง ๆ ใช้ทฤษฎี SRI ของ ดร.นอร์แมน ที่ประเทศดามากัสกา ทำห่าง ๓๐ x ๓๐ เซนติเมตร แต่ใช้ดินธรรมชาติ แต่เราปรับดินให้ดี วิธีการทำดินให้ดีที่สุดคือ การเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ทำอย่างไรจะเพิ่มอินทรียวัตถุ ซึ่งได้จากขุยมะพร้าว แกลบดิบ (ขี้ลีบละอองข้าวจากโรงสีที่ทิ้งแล้ว) พวกนี้ใส่ครั้งเดียวอยู่ได้ ๕ ปี ทำให้โครงสร้างดินโปร่ง ธาตุอาหารที่สำคัญของการแตกกอคือ ฟอสเฟอรัส ซึ่งได้จากขี้ค้างคาว

นายอำนวย : การฝึกอบรม มีกระบวนการอย่างไร

นายเชาว์วัช : กำลังวางแผนกับเจ้าหน้าที่เกษตร โดยจะเน้นเรื่องนาเป็นหลัก รุ่นละ ๑๕๐–๒๐๐ คน จะอบรมต้นเดือนธันวา ๒๕๕๔ ใช้เวลาอบรม ๑ วัน เริ่ม ๙.๐๐ – ๑๕.๐๐ น เช้าเป็นทฤษฎี บ่ายเป็นการปฏิบัติ ฝึกเพาะข้าว ฝึกโยนข้าว ในแปลงสาธิต แล้วต่อยอดติดตามผล เรารับซื้อข้าวมาทำข้าวปลูก 
            ผมตั้งใจว่าถ้าพูดถึงนา ต้องพูดถึงท่าวุ้ง ผมภาคภูมิใจเรื่องข้าวมาก รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ผมอยากจะทำเพื่อส่วนร่วมของลพบุรีให้สำเร็จ ให้ท่าวุ้งเป็นศูนย์หลักเรื่องข้าว

นายอำนวย :  มีเครือข่ายที่จะมาร่วมดำเนินการหรือไม่

นายเชาว์วัช :   ผมมีเครือข่ายที่ร่วมงานกันอยู่ เช่น กลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ เครือข่ายชาวอโศก มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และหน่วยราชการ องค์ความรู้มีมากเพียงแต่ถ้าเราจะทำให้สำเร็จต้องเกิดการร่วมมือกัน 

นายอำนวย : พื้นที่ทำนาสามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้หรือไม่

นายเชาว์วัช : พี่น้องของผมที่สุพรรณ ตอนนี้ทำนาโยนกันหมด น้องสาวได้ ๑๒๓ ถังต่อไร่ พันธุ์พิษณุโลก ๒ ทุกคนพอใจกันมาก เลิกทำนาหว่านน้ำตมกันทุกคน มีพี์ชายคนหนึ่งทำเกษตรอินทรีย์ ทำนา ๒ ครั้ง แล้วทำถั่วเขียว การทำนาถึงแม้ว่าเราใช้ปุ๋ยอินทรีย์เราก็ต้องใช้ทุนเหมือนกัน แต่การหว่านถั่วเขียว ๓ – ๕ กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเชื้อไรโซเบี่ยมที่กรมวิชาการเกษตรขาย ๑ ถุง ๒๐ บาท ใช้ได้ประมาณ ๑ ไร่   เพื่อให้เกิดเชื้อที่ตรีงไนโตรเจนได้ ฉะนั้นหลังจากทำนารอบที่ ๒ แล้วจะเจอช่วงแล้ง ไถ่ด้วยผาล ๓ หรือ ๗ แล้วหว่านถั่วเขียวได้เลย ถั่วต้องการน้ำน้อย เราจะได้อินทรีย์วัตถุประมาณ ๓ – ๕ ตันต่อไร่  ผลผลิต ๓๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ราคาซื้อประมาณกิโลกรัมละ ๕๐ บาท เราได้พืชบำรุงดิน ได้ผลผลิต และอินทรียวัตถุบำรุงดิน อายุการปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ ๖๐ วัน ใส่น้ำครั้งเดียวคือครั้งแรก เมือปลูกข้าวจะได้ผลผลิตมาก
              ถั่วเขียวถ้าต้องการให้บำรุงดิน ให้ไถ่กลบได้เลยตอนออกดอกยังไม่เป็นเมล็ด จะได้ประสิทธิภาพการเป็นปุ๋ยมากที่สุด ถ้ารอเก็บผลผลิตคุณภาพการเป็นปุ๋ยจะลดลงไป ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์  

นายอำนวย :  สำหรับเรื่องสวนหลังน้ำท่วมควรทำอย่างไร

นายเชาว์วัช :  การทำเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรประณีต ๑ ไร่แก้จน ควรปลูกกล้าผักอายุสั้นไว้ พอน้ำลดทำการปรับปรุงโครงสร้างดินให้โปร่งให้ร่วนซุย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด รองลงมาคือปุ๋ยอินทรีย์ โดยหาอินทรีย์วัตถุได้จากใบก้ามปู ใบกระถิน หรือต้นกระถินสับพอหยาบ ๆ เพื่อให้ดินโปร่งร่วนซุย แล้วนำกล้าผักมาลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร 
              สำหรับพืชตระกูลถั่ว ถ้าจะลงต้องให้น้ำแห้งหน้าดินแห้งก่อน เพราะพืชตระกูลถั่วไม่ชอบน้ำแฉะ สามารถเพาะเมล็ดได้เลย ไม่ต้องทำกล้า

นายอำนวย : มีผักอะไรบ้างที่หลังน้ำท่วมสามารถหว่านแล้วขึ้นได้ง่าย

นายเชาว์วัช : กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน พวกนี้ขึ้นง่าย ผักบุ้งปลูกกินเองถ้าเด็ดหรือตัดยอดเหลือโคนไว้ ก็จะแตกยอดอีก ยิ่งเด็ดยิ่งแตก กินไม่ชนะเลย 

นายอำนวย : การฟื้นฟูสวนมีคำแนะนำอย่างไร

นายเชาว์วัช : ควรทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักพื้นบ้านเพิ่ม เนื่องจากมีอายุยืน โรคแมลงไม่รบกวน ผักที่อายุยีนมีสารอาหารสูง เช่น ดอกแค ชะอม มะรุม เป็นต้น 

นายอดุลย์ : คิดว่าจะลง กระเจี๊ยบ ถั่วพู

นายเชาว์วัช :  ดีครับ พวกนี้โตวัย มะรุมเป็นพวกตระกูลถั่วเหมือนกันใบมีไนโตรเจนสูง ผมสังเกตดู ต้นก้ามปู เป็นพืชตระกูลถั่วเช่นกัน โดนน้ำท่วมนานไม่ตาย 

นายอำนวย : พีชผักหลังน้ำลดมักโดนหอยเชอรี่มากวน มีคำแนะนำอะไรบ้าง

นายเชาว์วัช :  ใช้ผงยาสูบโรย ๆ ที่แปลงผัก พวกหอย มด แมลง หนีหมด หรือจะใช้กากชาน้ำมัน ละลายน้ำ หอยทาก หอยเชอร์รี่ จะหนีหมด กากกาแฟก็นำมาใช้ได้ 

นายอดุลย์ : การปรับสภาพดินโดยใช้ปูนขาว หรือดินสอพอง จะได้ผลอย่างไร

นายเชาว์วัช : ดินลพบุรีเป็นดินด่าง ถ้าใช้ปูนมาร์ล หรือแคลเซียม จะทำให้ดินเป็นด่างมากขึ้นซึ่งแก้ยากกว่าดินกรด 

นายอำนวย : มีแนวคิดที่จะช่วยสังคม อย่างไร

นายเชาว์วัช : การให้ความรู้ การให้ปัญญา การให้ความรู้ในการพึ่งพาตัวเอง รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากที่สุด ขอเน้นว่า “ร้อยรู้ก็ไม่สู้หนึ่งทำ” ถ้าเรารู้แต่ไม่ทำ ก็ไม่ได้ประโยชน์ 

------------------------------------------------

บันทึก โดยนางสาวดวงกมล จิระตราชู

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การทำบุญเมืองลพบุรี

โดย นายภูธร ภูมะธน
ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลพบุรี

ภาพจาก http://www.klongdigital.com/images_webboard3/id_31204_14.jpg
     

        วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดสำคัญประจำเมืองลพบุรี เป็นพุทธศาสนสถานมานานไม่น้อยกว่า  ๑๕,๐๐ ปีมาแล้ว ด้วยพบหลักฐานโบราณคดีสมัยทวารวดี  เช่น   พระพุทธรูป ธรรมจักร จารึกอักษรปัลลวะภาษาบาลี  ที่มีอายุในสมัยดังกล่าวและคงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือเมื่อราวสามร้อยกว่าปีมาแล้วด้วย

    การโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารและสถูปจำนวนมากเพิ่มขึ้นในวัด  ความสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  คือ มีสิ่งก่อสร้างรูปปรางค์ตั้งอยู่กลางวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  


  ครั้งสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช  พงศาวดารสยามระบุเรื่องความสำคัญของพระบรมธาตุเมืองลพบุรีซึ่งน่าจะหมายถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุว่า     มีพระภิกษุกราบทูลพระเจ้าตากสินมหาราชว่าหากพระองค์สถาปนาบางกอกเป็นราชธานีแล้ว  ในพ.ศ. ๒๓๒๐    เมืองนี้จะเสียแก่พม่า ควรที่พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นไปอยู่เมืองลพบุรี  ด้วยเป็นเมืองที่เป็นมงคลเพราะ  “เป็นที่ชุมนุมพระบรมธาตุตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินสยาม ข้าศึกศัตรูจะทำร้ายมิได้เลย”  เมื่อทรงได้รับคำพยากรณ์ดังกล่าวนั้นได้มีพระราชปรารภว่า    “ ซึ่งจะละบางกอกเสียนั้นมิได้  แต่ปากสมณะชีพราหมณ์ว่าแล้วจำจะทำตาม จะไปอยู่เมืองลพบุรีสักเจ็ดวันพอเป็นเหตุ”


   เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒   ชาวเมืองลพบุรีโดยการนำของพระครูโสภณธรรมรัตแห่งวัดเชิงท่า  ได้ริเริ่มให้จัดพิธีบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นเรียกว่าทำบุญเมืองลพบุรีและได้จัดติดต่อกันมาทุกปีกระทั่งถึงปีนี้คือพุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการจัดทำบุญเมืองลพบุรีครั้งที่ ๑๒  กำหนดจัดขึ้นที่   พระนารายณ์ราชนิเวศน์  และที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ใน      วันศุกร์ที่ ๒๓   ธันวาคม  พ.ศ.๒๕๕๔  


  เหตุที่ชาวลพบุรีริเริ่มจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ก็เพื่อย้ำเน้นความสำคัญของพุทธศาสนสถานที่เป็นหัวใจของเมืองคือพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งผู้สถาปนาคงหวังให้ผู้คนในชุมชนได้รำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงประทานพระธรรมคำสั่งสอนให้มนุษย์เห็นความสำคัญและยึดหลักการมีชีวิต ๓ ประการ คือ


             หลักปฏิจจสมุปบาท(สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยอิงอาศัยกัน)
             หลักอริยสัจ(การใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต)
             และ หลักของกรรม(การพึ่งพาตน)


 นอกจากนี้การทำบุญเมืองที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี  ก็เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล     เนื่องจากเดือนธันวาคม  เป็นเดือนแห่งพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     รวมทั้งให้เป็นสิริมงคลกับบ้านเมืองและตนเอง   ในโอกาสรับศกใหม่   การทำบุญเมืองลพบุรีจัดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวเมืองลพบุรี  โดยมีคณะศิษย์พระครูโสภณธรรมรัต(หลวงพ่อถม) วัดเชิงท่า ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี และสำนักศิลปะและวัฒนธรรม(ม.ราชภัฏเทพสตรี)เป็นผู้ดำเนินการ


-------------


กำหนดการทำบุญเมืองลพบุรีประจำปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ (ครั้งที่ ๑๒)
พิเศษในโอกาส สัมพุทธชยันตี 
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา
วันศุกร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔
ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ และ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (หลังสถานีรถไฟ)
ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

๐๗.๓๐ น. พิธีบวงสรวงเทพยดาและบรรพชนผู้ปกปักรักษาเมืองลพบุรี (ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์)

๐๘.๓๐ น. นักเรียน นักศึกษา วาดภาพพุทธประวัติบนผืนผ้า(ผ้าพระบฏ)ยาว ๘๕ เมตรเพื่อใช้ห่มพระ
ศรีรัตนมหาธาตุเป็นพุทธบูชา (ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์)

๑๐.๐๐ น. เจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ ๑๘ รูป (ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์)

๑๕.๓๐ น. แห่ผ้าพระบฏจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์สู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

๑๗.๐o น. ประธานพิธีทำบุญเมืองลพบุรีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

๑๗.๑๕ น. บรรยายเรื่อง พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร โดยวิทยากรและพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพุทธบูชา
และรำลึกถึง ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (สัมพุทธชยันตี) ในปี พ.ศ.๒๕๕๕

๑๘.๐๐ น. พระภิกษุสงฆ์ และพุทธบริษัทพร้อมใจกันสวดพระปริตร (พระพุทธมนต์
เพื่อความเป็นสิริมงคลและป้องกันภัย) และเจริญสมาธิภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล

๑๙.๐๐ น. พิธีถวายผ้าพระบฏห่มพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพุทธบูชา และเวียนเทียนสมโภช
พระศรีรัตนมหาธาตุ

๑๙.๔๕ น. เสร็จพิธี รับแจกวัตถุมงคล




คณะศิษย์หลวงพ่อถม วัดเชิงท่า 
ชมรมอนุรักษ์ฯลพบุรี 
ำนักศิลปะและวัฒนธรรม(ม.ราชภัฏเทพสตรี) จังหวัดลพบุรี 
มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ 
ททท.สำนักงานลพบุรี สำนักศิลปากรที่ ๔
สโมสรใจใสโรงเรียนบรรจงรัตน์ และ โรงเรียนกำจรวิทย์
----------------
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม(ม.ราชภัฏเทพสตรี) ๐๓๖ ๔๑๓๐๙๖





วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

E-book รับมือน้ำท่วม ไม่ยาก

เผยแพร่ฟรี E-Book รับมือน้ำท่วมไม่ยาก คลิกไปดาว์นโหลดได้เลยค่ะ


โดย ebook.in.th