จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม

การสร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม

                  ผลงานที่โดดเด่นมากที่สุดของ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง คือ การทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิดในเรื่องของ วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงสุดท้ายของการรับราชการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (๒๕๓๒ - ๒๕๓๔) หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติแล้ว ดร. เอกวิทย์ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงแรก พบปะ สนทนาและหารือร่วมกับนักคิดร่วมสมัย เช่น ศาสตราจารย์ นพ. ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี พงศ์พิศ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และคนอื่นๆ เมื่อนำความคิดของนักคิดต่างๆ เหล่านี้มาผนวกเข้ากับสิ่งที่ได้ศึกษาอย่างจริงจังจากการอ่านหนังสือที่เป็นการเสนอความคิดของนักวิชาการจากทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก เช่น Lester R. Brown Fritjof Capra Mosanobu Fukuoka อาร์โนลด์ ทอยน์บี ไอซากุระ อิเคดะ Alwin Toffler John  Naisbitt ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ชูมาร์คเกอร์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น ทำให้ ดร.เอกวิทย์มั่นใจว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความหมายต่อมนุษยชาติมาก การดำเนินงาน วัฒนธรรม นั้น เป็นงานที่มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวางมากและเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนในสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง โดยที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ

                  ในส่วนนี้  ดร. เอกวิทย์  ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

                        ผมได้มีโอกาสรู้จักนักปราชญ์ นักวิชาการ ผู้รู้ ผู้ชำนาญหลายสาขา ตลอดจนชาวบ้านดีๆ เก่งๆ ที่ฉลาดรอบรู้เป็นอันมากทำให้เกิดทัศนะใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผมซาบซึ้งในวัฒนธรรมข้าว ซาบซึ้งในแก่นพระพุทธธรรม และได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาพื้นบ้านและศักยภาพของคนไทยที่เป็น คนเล็กคนน้อย

                  ดร.เอกวิทย์เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่เพียรพยายามสร้างความเข้าใจในความหมายของคำว่า วัฒนธรรม โดย ดร.เอกวิทย์มีความเห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังสับสนและปะปนกันระหว่าง ศิลปะ และ วัฒนธรรม และยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเพียงบางแง่บางมุม ดร.เอกวิทย์จึงสรุปเสนอเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างว่า

                        วัฒนธรรมในความหมายกว้าง คือประสบการณ์สั่งสมของมนุษย์ที่สืบทอด และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามเหตุ - ปัจจัย วัฒนธรรมเป็นองค์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น อันเนื่องมาจากมนุษย์มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ สัมพันธ์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ และสัมพันธ์กับมนุษย์เอง วัฒนธรรมจึงมีความหลากหลายเกือบจะหาที่สุดมิได้ และยังเปลี่ยนแปลงต่อไปไม่หยุดยั้ง

                  ซึ่งในส่วนนี้สะท้อนออกมาในความหมายของวัฒนธรรม ซึ่งกำหนดไว้ในกรอบและทิศทางแผนวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ.๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) โดยได้ให้ความหมายทางวัฒนธรรมไว้อย่างลึกซึ้งว่า
                        วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับธรรมชาติ วัฒนธรรมมีทั้งสาระและรูปแบบที่เป็นระบบความคิดวิธีการ โครงสร้างทางสังคม สถาบัน ตลอดจนแบบแผนและทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น

                  ซึ่งในแวดวงนักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแล้วถือว่าเป็นการให้ความหมายของ วัฒนธรรม ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ (Vision) ของผู้บริหารระดับสูงที่เข้าใจความหมายและสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวัฒนธรรมเข้าใจความหมายของ วัฒนธรรม และ งานวัฒนธรรม ได้อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง  ครอบคลุม วิถีชีวิตของมนุษย์ ได้อย่างแท้จริง
        
               นอกจากจะให้ความหมายของ วัฒนธรรม อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมสามารถทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สามารถเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรมดังกล่าวแล้วนั้น ดร. เอกวิทย์  ยังชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรม นั้นไม่หยุดนิ่ง มีพลวัต (Dyanmics) ตลอดเวลา ซึ่ง ดร. เอกวิทย์ ได้เสนอแนะวิธีการทำงานวัฒนธรรมไว้อย่างแยบยลว่า

              “การดำเนินงานใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องเข้าใจบริบทและเงื่อนไขแวดล้อม ศักยภาพของมนุษย์ตลอดจนสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรนวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้ง

                 การดำเนินงานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องเข้าใจบริบทและเงื่อนไขแวดล้อม ศักยภาพของมนุษย์ตลอดจนสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรนวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดยั้ง

-------------------------
รวบรวมโดย ดร.กาสัก  เต๊ะขันหมาก