จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ของวัฒนธรรมไทย


               ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง ได้วิเคราะห์ว่า สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาโดยตลอด แม้จะได้รับอิทธิพลจากภายนอกที่แทรกซึมเข้ามาเป็นระยะๆ จากจีนและอินเดีย แต่ก็สามารถปรับรับมาบนพื้นฐานความเป็นไทย โดยมีพระพุทธศาสนาเป็น แกนกลางแห่งเนื้อตัวทั้งหมดของความเป็นไทย

               เมื่อเกิดคลื่นลูกที่สองขึ้นในซีกโลกตะวันตก และเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม ไทยตกอยู่ในอันตรายของลัทธิจักรวรรดินิยมที่มุ่งล่าอาณานิคมเพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรป้อนวัตถุดิบสู่การผลิตและเป็นแหล่งระบายสินค้า แต่ไทยสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ และเอาตัวรอดรักษาเอกราชไว้ได้ เช่นเดียวกับการเผชิญวิกฤตการณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยสามารถปรับตัวจาก สภาพพันธมิตรของญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามมาเป็นโมฆียกรรม ได้ และเมื่อโลกตะวันตกเคลื่อนสู่สังคมข่าวสารข้อมูล และประเทศต้องเผชิญภัยจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์สังคมไทยก็สามารถแก้วิกฤตการณ์ได้เช่นกัน แม้จะสามารถเผชิญแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี แต่ ดร.เอกวิทย์ได้ให้ข้อสังเกตว่า การถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลังเกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย ทั้งผู้ถ่ายทอด ผู้รับ เครื่องมือ และวิธีการถ่ายทอด

               ยิ่งเมื่ออิทธิพลจากตะวันตกทวีความรุนแรงขึ้นจน ครอบงำวิถีชีวิตและบดบังภูมิปัญญาเดิมของไทย จึงก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมที่ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ไว้ ๖ ประเด็นหลัก คือ

                    ๑) การสูญเสียความเข้าใจและความภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนไทยในชนบท ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่า เพื่อรักษาความเป็นเอกราช ไทยได้ปฏิรูปการปกครองตามแบบตะวันตก มีการรวมศูนย์ในส่วนกลาง และทำให้เกิด วัฒนธรรมกรุงเทพ หรือวัฒนธรรมส่วนกลางที่รับวัฒนธรรมสากล มาเป็นหลักและได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ โดยมีกลไกของระบบราชการและการศึกษาเป็นเครื่องมือผลักดัน ส่งผลให้คนชนบน หมดความภูมิใจในถิ่นกำเนิด และรกรากทางวัฒนธรรม เกิดช่องว่างระหว่างคนในครอบครัว ในชุมชน ระหว่างรัฐและประชาชน ทั้งยังทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มี ใจไร้แก่น เพราะขาดความเข้าใจในพื้นฐานเดิมของตน และยังไม่สามารถก้าวไปสู่วัฒนธรรมสากลได้อย่างแท้จริง
                    ๒) ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคม จากสภาพสังคมดั้งเดิมที่มีดุลยภาพระหว่างมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่า ไทยได้รับ  คตินิยมทางเศรษฐศาสตร์จากตะวันตก จึงมองเห็นทรัพยากรเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงจัดการเพื่อสนองความต้องการมนุษย์ และได้ก่อให้เกิดการพร่าผลาญอย่างไม่รู้ค่าเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน และทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกเป็นสัญญาณให้เห็นว่า วัฒนธรรมพุทธเกษตรได้เสื่อมถอยและหลีกทางให้กับอำนาจเงินตรา สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้วิถีชีวิตของคนโดยรวมเปลี่ยนแปลงไป ความอยู่เย็นเป็นสุขสูญหายไป มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น เกิดการเอาเปรียบ เกิดภาวะหนี้สินและความยากไร้ จนถึงขั้นขายลูกเพื่อไปค้าประเวณี
                    ๓) ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจและสังคม จนปรากฏสังคมหลายรูปแบบในสังคมไทย ในช่วงที่นักวิชาการไทยพากันตื่นเต้นกับข้อคิดของ Alvin Toffler ในหนังสือ คลื่นลูกที่สาม ดร.เอกวิทย์ดูจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยโดยรวมไม่ได้ผ่านคลื่นทั้งสามลูกในอัตราเดียวกัน แต่ในสังคมไทยนั้นจะได้พบผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ในสังคมต่างลักษณะโดยสิ้นเชิง มีทั้งสังคมเกษตรกรรมเพื่อการดำรงชีพ สังคมเกษตรกรรมเพื่อธุรกิจ สังคมอุตสาหกรรม และสังคมข่าวสารข้อมูล บางคนในช่วงชีวิตเดียวจะผ่านทั้ง ๓-๔ สังคม
                    สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดความสับสน เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างกลุ่มคนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา และผู้ใช้แรงงานมักจะตกเป็นเบี้ยล่าง ดร.เอกวิทย์จึงมีความหวังเมื่อพบว่ามีกลุ่มชาวบ้านที่เริ่มตระหนักในอันตรายของเส้นทางสายนี้ และได้หวนกลับมาสู่ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่นเดียวกับชาวนานักปราชญ์ชาวญี่ปุ่น มาซาโนบู ฟูกุโอกะ ที่ใช้วิธีการธรรมชาติในการทำเกษตรกรรม และได้ให้แรงบันดาลใจแก่ ดร.เอกวิทย์ในการผลักดันทางเลือกใหม่ ซึ่ง ดร.เอกวิทย์เชื่อว่าเป็นทางเลือกสู่ความรอดสายเดียวที่เหลืออยู่ และอาจเป็นการนำไปสู่ รุ่งอรุณของคลื่นลูกที่สี่ นั่นคือ ยุคที่ศักยภาพทางเศรษฐกิจสามารถดำรงระบบนิเวศไว้ให้อยู่ได้
                    ๔) วิกฤตการณ์ในระบบราชการ ดร.เอกวิทย์มีความห่วงใยที่ระบบราชการซึ่งเคยเป็นหลักของบ้านเมืองด้อยประสิทธิภาพลงทุกที คนดีมีฝีมือออกจากระบบไปสู่ภาคเอกชน  คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้ารับราชการ ในขณะที่คนที่เหลืออยู่ก็แก่งแย่งชิงดี อาศัยนักการเมือง หรือตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการฉ้อฉลหาประโยชน์ใส่ตน
                    ๕) คุณธรรมจริยธรรมบนฐานของพุทธเกษตรเริ่มสั่นคลอน ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่าความเรียบง่าย สันโดษ การดำเนินชีวิตบนเส้นทางสายกลาง ซึ่งเป็นลักษณะของคนไทยเริ่มหมดไป ด้วยอิทธิพลของกระแสทุนนิยมที่เน้นอำนาจของเงินและการบริโภค ในขณะเดียวกัน ดร.เอกวิทย์ได้แสดงความหนักใจที่สถาบันทางศาสนาก็อ่อนแอลง แม้จะมีพระสงฆ์ผู้ทรงศีล ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างอยู่ไม่น้อย แต่มีพระสงฆ์ที่หย่อนยานในเรื่องธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติ จนคนเสื่อมศรัทธา เน้นการประกอบพิธีกรรมมากกว่าการเผยแพร่แก่นแท้ของพุทธธรรม จึงไม่สามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชนได้
                  ๖) วิกฤตการณ์ทางการศึกษา ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาไม่ได้ทำหน้าที่สืบทอดวัฒนธรรมด้วยการส่งเสริมให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ ความคิด ประสบการณ์ที่ได้สร้างสมมาในสังคมจนเกิดความเข้าใจ สามารถสืบทอด ปรับประยุกต์ได้ตามความเหมาะสม แต่การศึกษาเท่าที่จัดอยู่ กลับกลายเป็นเครื่องมือผลักดันคนให้ไปสู่ทิศทางใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิม ไม่ได้ให้คุณค่าแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ได้พยายามที่จะหล่อหลอมคนให้เป็นคนในวัฒนธรรมของเขาเอง เน้นการเรียนเพื่อศึกษาต่อเพื่อปริญญาบัตร เน้นการศึกษาเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง จึงไม่สามารถพัฒนาคนทางด้านค่านิยม จิตวิญญาณ คุณธรรมจริยธรรม หรือมีความเป็นบัณฑิตรอบรู้ จนทำให้แม้ผู้มีการศึกษายังไม่สามารถแสวงหาทางเลือกสำหรับตนเองและสังคมได้
                    ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์วิกฤตการณ์ของวัฒนธรรมไทยไว้หลายกรณี แต่ส่วนใหญ่จะมีสาระสำคัญสอดคล้องกันที่ความห่วงใยในสภาพความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สภาพทางสังคม ค่านิยมคุณธรรม จริยธรรม ระบบราชการ ระบบการศึกษา ซึ่งทำให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ มีความทุกข์ยากไร้ที่พึ่งและขาดทางเลือกในชีวิต