จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การวิเคราะห์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทย


                ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ได้ศึกษาและประมวลทั้งจากท่านผู้รู้ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และงานเขียนของชาวต่างประเทศ จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์และวรรณคดี และที่สำคัญจากประสบการณ์ชีวิตของ ดร.เอกวิทย์เอง ซึ่งเป็นข้อคิดที่น่าศึกษาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการวิเคราะห์เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไว้อย่างชัดเจนมีมุมมองที่ทั้ง กว้าง และ ลึก โดยเสนอในผลงานที่สำคัญยิ่งคือ เอกสารผลงานวิจัยส่วนบุคคล เรื่อง เอกลักษณ์ไทยที่ผลต่อความมั่นคงของชาติ ที่เสนอต่อวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในปี ๒๕๒๐ ต่อมาเมื่อได้ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๓๓ ได้ปรับปรุงและจัดพิมพ์เผยแพร่ในชื่อใหม่ว่า วิเคราะห์เอกลักษณ์ไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้สะท้อนวิธีคิดที่สำคัญ โดย ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ใน ๔ ประเด็นหลักคือ ๑) การมีสถาบันที่เป็นองค์คุณแห่งชาติ ๒) แบบอย่างวัฒนธรรมไทย ๓) ลักษณะนิสัยประจำชาติ และ ๔) ภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชน
        ๑. สถาบันที่เป็นองค์คุณแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย
                         ๑.๑ ความสำนึกในความเป็นชาติ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าคนไทยมีสำนึกในความเป็นชาติที่ต่อเนื่องมาหลายศตวรรษ ไม่ว่าจะอยู่ในอาณาจักรใด ถิ่นฐานใด ล้วนเรียกตนเองว่า คนไทย หรือ คนไท ทั้งสิ้น ทั้งยังมีวัฒนธรรมและความสามารถที่จะปรับตัว และผสมกลมกลืนชาติอื่นให้เข้ามาเป็นไทย พื้นฐานเหล่านี้ประกอบกับแนวทางเร่งเร้า รณรงค์ปลูกฝังในสำนึกแห่งความเป็นชาติในสมัยต่างๆ ทำให้คนไทยมีสำนึกในความเป็นชาติที่ฝังรากลึกมาช้านาน
                         ๑.๒ ศาสนา ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าพระพุทธศาสนาเป็นหลักที่ค้ำจุนชีวิตคนไทยมาโดยตลอด และได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานัปการ พุทธศาสนาได้เป็น วิถีทางปัญญาที่ให้สัจธรรมทำให้มนุษย์บรรลุอิสรภาพโดยสมบูรณ์ และได้วางกรอบทางจริยธรรมให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ละเว้นการประพฤติชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส นอกจากนี้ วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่มีความเรียบง่ายใฝ่สันโดษยังเป็นการแสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างและช่วยเตือนสติได้ว่าการใช้ชีวิตตามอุดมการณ์ของพุทธศาสนาจะทำให้เกิดความสงบสุขได้จริง
                              ในขณะที่ ดร.เอกวิทย์ให้ความสำคัญแก่คุณค่าของพุทธศาสนาต่อวัฒนธรรมไทย และในขณะเดียวกันก็วิเคราะห์โดยการยอมรับว่าพุทธศาสนาในประเทศไทยถึงภาวะวิกฤติจำเป็นต้องมีการแก้ไขเยียวยา ทั้งในส่วนของพระพุทธศาสนาเอง และพุทธศาสนิกชน โดยได้ให้ข้อสังเกตว่า คนไทยโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ ๑) คนส่วนน้อยที่มีความเข้าใจในหลักธรรม ๒) คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาแต่ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา และ ๓) คนที่ไม่มีความรู้หรือความสนในในพุทธศาสนา และยังได้คาดการณ์ว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ทำให้คนไทยสับสนวุ่นวาย จะทำให้คนไทยให้คุณค่าแก่หลักธรรมของพระพุทธศาสนามากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาทางที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา และนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตปัจจุบันและพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวความคิดนี้ได้สะท้อนต่อมาเป็นความพยายามของ ดร.เอกวิทย์ที่จะปรับเปลี่ยนแนวการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน
                         ๑.๓ สถาบันพระมหากษัตริย์ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ในเชิงระบบการปกครอง พระมหากษัตริย์ไทยดำรงทั้งตำแหน่งพระจอมทัพในยามสงคราม และพ่อเมืองในยามสันติ ดร.เอกวิทย์ได้นำเสนอตัวอย่างที่แสดงถึงพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ไทยที่ได้ทรงสถาปนาราชอาณาจักร นำประเทศฟันฝ่ามรสุม และทำนุบำรุงให้เกิดความเจริญยากที่จะหาพระมหากษัตริย์ในประเทศใดเทียบเคียงได้ ที่สำคัญคือการหยิบยกพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในนิราศที่ว่า

                            “ตั้งใจจะอุปถัมภก
                                  ยอยกพระพุทธศาสนา
                                  จะป้องกันขอบขัณฑสีมา
                                  รักษาประชาชนและมนตรี
เพื่อเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในสถานการณ์บ้านเมือง และภารกิจที่พระองค์ทางตั้งพระราชปณิธานไว้ ซึ่งทรงดำเนินการได้สำเร็จในระยะต่อมา
                              ดร.เอกวิทย์ ยังได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความรอบรู้ในด้านต่างๆ เช่น  พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เตือนให้ระวัง ฝรั่ง มากกว่า พม่า เขมร และญวน ให้คบหาสมาคมแต่อย่าตกเป็นเครื่องมือ หรือเอาเยี่ยงอย่างเขาจนเกินไป  หรือ กลวิธี ฝรั่งจิ้มฝรั่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คบหากับหลายประเทศ  อาศัยเป็นที่ปรึกษา และมอบบรรดาศักดิ์เพื่อผูกพันให้เกิดความภูมิใจว่าเป็นคนของแผ่นดินไทย  และที่ ดร.เอกวิทย์จะหยิบยกขึ้นเตือนสตินักศึกษาและนักพัฒนาอยู่เสมอ คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานว่า เวลานิสิตนักศึกษาจะไปพัฒนาชนบทแล้วอย่าทำตัวเป็นผู้รู้ แต่ต้องไปด้วยใจที่พร้อมจะเรียนรู้จากชาวบ้าน และบทสรุปของพระองค์ท่านที่ว่า การพัฒนาประเทศต้องให้ประชาชนตัดสินใจ และ ต้องระเบิดจากภายใน
                              ดร.เอกวิทย์ วิเคราะห์และสรุปว่า คนไทยมีโชควาสนาที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยว และเป็นหลักชัยของชาติมาตั้งแต่โบราณกาล
                   ๒.แบบอย่างวัฒนธรรมไทย
                         ๒.๑ โครงสร้างทางสังคมและลักษณะความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่า สังคมไทยมีลักษณะความสัมพันธ์ที่มีครอบครัวเป็นพื้นฐาน และขยายกว้างขึ้นจนถึงระดับชาติ แม้แต่การปกครองระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและประชาชน จะมีลักษณะความสัมพันธ์ฉันบิดาและบุตรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ แม้การปกครองจะเป็นลักษณะการรวมศูนย์ แต่ด้วยระยะทางและความยากลำบากในการเดินทางหมู่บ้านจึงมีอิสระในการดำเนินชีวิตและสามารถพึ่งตนเองได้พอสมควร
                              ดร.เอกวิทย์ได้สรุปว่าสังคมไทยมีลักษณะเกาะเกี่ยวกันอย่างหลวมๆ มีความผ่อนผัน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวนัก ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้โครงสร้างทางสังคมและครอบครัวไทยเริ่ม สั่นคลอน แม้ในขณะที่วิเคราะห์ในช่วงปี ๒๕๒๐ ดร.เอกวิทย์ยังไม่คิดว่าจะถึงขั้นแตกสลาย แต่ได้ชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีความ แปลกแยก ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและในสังคมไทยแล้ว
                         ๒.๒ ภาษาไทย ดร.เอกวิทย์ถือว่าภาษาไทยได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชาติ ทั้งๆ ที่มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย แต่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ และทุกระดับชั้นสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยร่วมกัน เป็นช่องทางที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มชนในชาติ
                        ดร.เอกวิทย์ยังได้วิเคราะห์ให้เห็นว่า ภาษาไทยยังเป็นภาษาที่มีการผสมอักษร และหน่วยเสียงที่สามารถปรับประยุกต์ให้เข้ากับภาษาอื่นได้ค่อนข้างใกล้เคียง
เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่มาใช้อีกทั้งมี ความไพเราะและมั่งคั่ง หากใช้อย่างสร้างสรรค์จะมีพลังในการสื่อสาร โน้มน้าวจิตใจ และด้วยเหตุที่ภาษาไทยมีคำศัพท์ที่หลากหลาย  เมื่อรับความคิดใหม่มา จึงมักจะสามารถหาคำไทยมาใช้ได้ตรงความ
                              ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์และชี้ให้เห็นว่าภาษาไทยเป็นองค์ประกอบในเอกลักษณ์ของชาติประการสำคัญ ที่มีพลังและศักยภาพ ควรที่จะเร่งพัฒนาเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างเอกภาพภายในชาติ และช่วยให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ ปรับประยุกต์ และสื่อสารแนวคิดในสังคมโลก
                   ๓.ลักษณะนิสัยประจำชาติ
                        ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าชาติไทยมีลักษณะที่ดีหลายประการ กล่าวคือ
                       ๓.๑ รักอิสระ ดร.เอกวิทย์ได้หยิบยกปาฐกถาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงวินิจฉัยว่า คนไทยแต่โบราณกาลไม่อยากอยู่ใต้อำนาจของชาติอื่น แม้ถูกยึดครองจะเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อกอบกู้อิสรภาพ
                         ๓.๒ ปราศจากวิหิงสา ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าในขณะที่คนไทยรักอิสระแต่ในขณะเดียวกัน คนไทยจะมีความเอื้ออารีต่อชนชาติอื่น ซึ่งเป็นนิสัยที่สืบทอดจนปัจจุบันและยังพบเห็นได้ในหมู่บ้านชนบท
                      ๓.๓ รู้จักประสานประโยชน์ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าเป็นคุณลักษณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงตั้งข้อสังเกต และปราชญ์ไทยในสมัยต่อๆ มา เช่น   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักวิชาการต่างประเทศ ต่างถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยที่สามารถที่จะชักจูงชนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมให้มาเข้าอยู่ด้วยกัน ทั้งยังรู้จักที่จะเลือกรับสิ่งที่มีประโยชน์จากวัฒ    นธรรมภายนอก คุณลักษณะข้อนี้ ดร.เอกวิทย์ ถือว่าเป็นคุณแก่ประเทศ  และได้ช่วยให้ประเทศผ่านวิกฤตการณ์มาหลายยุคหลายสมัย แม้แต่ในสมัย ลัทธิจักรวรรดินิยม ดร.เอกวิทย์ได้หยิบยกคำชื่นชมของ เหลียง ซี-เฉา นักปฏิรูปของจีนที่กล่าวว่า สยามตั้งอยู่ระหว่างพม่าและอันนัม ดูบอบบางดั่งผืนผ้าไหม แต่สยามยังถูกปลุกเร้าให้ปรับตัว และยังคงยืนหยัดเป็นเอกราชได้อย่างเต็มภาคภูมิ
                         ๓.๔ ความสุภาพอ่อนโยน ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่า การที่คนไทยมีความสุภาพอ่อนโยนคงจะเป็นเพราะพื้นฐานทางพุทธศาสนาที่อบรมให้รู้จักสำรวมทั้งกาย วาจา และใจ ทั้งยังเป็นสังคมที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีระบบความสัมพันธ์ที่ลดหลั่นกัน  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยและผู้ใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดร.เอกวิทย์ได้ให้ข้อสังเกตซึ่งสะท้อนสภาพสังคมหลังเหตุการณ์สิบสี่ตุลาคมว่า คนเป็นจำนวนไม่น้อยเริ่มมองว่า  ความสุภาพเป็นผลพวงจากระบบศักดินาที่มีการกดขี่ จึงมุ่งแสดงพฤติกรรมที่ดูเข้มแข็ง แต่บ่อยครั้งกลายเป็นความหยาบกระด้าง ไม่รู้กาลเทศะ ในขณะเดียวกัน ดร.เอกวิทย์ได้เตือนว่า ความสุภาพอ่อนโยนอาจจะทำให้ถูกเอาเปรียบได้ง่ายๆ
                         ๓.๕  ความเกรงใจหรือความรู้สึกไม่อยากเป็นภาระ หรือทำให้ผู้อื่นยากลำบากนั้น ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าวัฒนธรรมไทยถือว่าเป็นสมบัติผู้ดี แต่ในสภาพความเป็นจริง ในบางครั้งอาจเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา และดำเนินงานให้ลุล่วงไปได้
                         ๓.๖ ความยิ้มแย้มแจ่มใส ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่า เป็นคุณสมบัติของคนไทยที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานทางพุทธศาสนาที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น มองเห็นว่าทุกข์สุขเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นค่านิยมของสังคมไทยที่ให้คุณค่าแก่คนที่มีอารมณ์มั่นคง สามารถควบคุมสติอารมณ์เมื่อเผชิญปัญหา แต่ได้ให้ข้อสังเกตว่าสภาพความยากไร้และขัดแย้งในสังคมดูจะทำให้ความยิ้มแย้มแจ่มใสของคนไทยเลือนหายไป
                         ๓.๗  ความใฝ่สันโดษ รักสันติ ลักษณะนิสัยนี้ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่า มีพื้นฐานจากพุทธธรรมที่มีความเชื่อว่า คุณธรรมสูงสุด คือ การระงับกิเลสและความอยาก คนไทยโดยพื้นฐานดั้งเดิมจึงเป็นผู้มักน้อย รักสันโดษ นิยมชีวิตที่เรียบง่าย แต่ด้วยกระแสวัตถุนิยมที่ได้รับการโหมกระหน่ำด้วยแรงโฆษณา ทำให้คนต่างไขว่คว้าหาทรัพย์สินและเครื่องอำนวยความสะดวก จนเกิดภาวะที่ดร.เอกวิทย์ได้ขนานนามว่า แรงระเบิดของตัณหา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ การฉ้อฉลคดโกง ในขณะที่คนที่อยู่ในศีลธรรมกลับถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนโง่ไม่ทันโลก ดร.เอกวิทย์ได้เตือนว่า สภาพการณ์เช่นนี้หากปล่อยไว้จะกลายเป็น เนื้อดินอันโอชะสำหรับหว่านพืชแห่งความเคียดแค้น ริษยา และทำลายกันด้วยวิธีรุนแรง
                         ๓.๘  ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดร.เอกวิทย์ได้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของคนไทยในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงไร ทั้งนี้เพราะคุณธรรมทางศาสนาได้หล่อเลี้ยงจิตใจของคนไทยมาช้านาน แม้ในปัจจุบันคนไทยจะมีความยากไร้ขัดสนมากขึ้น แต่ประชาชนในชนบทยังมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนมักจะถูกบุคคลจากภายนอก โดยเฉพาะข้าราชการฉกฉวยโอกาสจากน้ำในของชาวบ้าน กอบโกยผลประโยชน์อย่างน่าละอาย
                         ๓.๙ ความประนีประนอม ผ่อนสั้นผ่อนยาว ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่า เป็นลักษณะนิสัยของคนไทยที่ไม่ชอบการตัดสินแบบแตกหัก แต่จะผ่อนปรนรอมชอมเข้าหากัน  หรืออาศัยผู้มีอาวุโสมีประสบการณ์ช่วยไกล่เกลี่ย ดร.เอกวิทย์วิเคราะห์ว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ดีและสอดคล้องกับหลักธรรมทางศาสนา ที่ถือว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรคงที่แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต่อสู้ให้แตกหัก ซึ่ง ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่า การปรองดองควรวางอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง ด้วยปัญญาความรอบรู้และใจที่เป็นอุเบกขา
                         ๓.๑๐  ความไม่ผูกพยาบาท ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยคติธรรมที่ว่า  เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คนไทยจึงมีลักษณะนิสัยไม่ผูกพยาบาท และมีประเพณีที่จะขอขมาในพฤติกรรมที่ได้ล่วงเกินไป แต่ ดร.เอกวิทย์ได้เตือนว่า การยกโทษไม่ควรกลายเป็นสภาพของ การเจ็บแล้วไม่รู้จักจำ จนต้องถูกเอาเปรียบซ้ำแล้วช้ำเล่า
                         ๓.๑๑ ความรักถิ่นที่อยู่ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าคนไทยมีความผูกพันกับบ้านเมืองไทย และถิ่นฐานที่อยู่ไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่ใดทั้งภายในและต่างประเทศ จะหวนกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย หรือกลับไปที่บ้านเดิม
                     ๓.๑๒  ความเป็นชาตินักรบ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าเป็นคุณสมบัติของคนไทยมาแต่โบราณกาล ซึ่งความเป็นนักรบของไทยในอดีตนั้น เป็นไปเพื่อรักษาอิสรภาพของชาติ  มากกว่าจะก้าวร้าวข่มเหงรังแกผู้อื่นหรือทำลายกันเอง ดร.เอกวิทย์จึงแสดงความห่วงใยที่ในยุคสมัยหนึ่งคนไทยต้องจับอาวุธปราบปรามกันเอง และได้เสนอแนวทางไว้กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว่า  การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่สามารถแก้ได้ด้วยความเป็นนักรบ แต่ต้องอาศัยคุณลักษณะที่มีคุณค่าของชาติไทย เช่น ความปราศจากวิหิงสา ความไม่ผูกพยาบาท และความรู้จักประนีประนอมผ่อนสั้นผ่อนยาว เป็นต้น
                        และ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าชาติไทยมีลักษณะที่ไม่ดีหลายประการเช่นกัน กล่าวคือ
                         ๑) ความหย่อนระเบียบวินัย ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยไม่เคร่งครัดระเบียบวินัย ทั้งที่เป็นกฎเกณฑ์ที่เพื่อถือปฏิบัติร่วมกัน และวินัยในตนเอง ทั้งยังถือเป็นความท้าทายที่จะได้ เสี่ยงบาลี ซึ่ง ดร.เอกวิทย์สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลจากการอบรมเลี้ยงดูแต่เล็กที่พ่อแม่จะเอาใจ ไม่เข้มงวดกับลูกหลาน อีกทั้งความเป็นเอกราชไม่เคยเป็นเมืองขึ้น อาจทำให้คนไทยมีนิสัยตามใจตัวเอง เอาความสบายเป็นที่ตั้ง ลักษณะที่ไม่ดีนี้       ดร.เอกวิทย์ถือว่าเป็นช่องทางให้บ้านเมืองสับสน มีการประพฤติมิชอบและเบียดเบียนกัน
                         ๒) ความเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยลักษณะของสังคมที่มีความเคารพนับถือเป็นลำดับชั้นลดหลั่นลงมา ทำให้คนไทยมีความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส โดยอัตโนมัติ แต่ดร.เอกวิทย์ยอมรับว่า บ่อยครั้งการแสดงความนับถือไม่ได้มาจากเนื้อแท้ของจิตใจ ฉะนั้นลับหลังอาจมีพฤติกรรมในทางตรงกันข้าม ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ที่มากจนขาดเหตุผลยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เพราะบ่อยครั้งผู้น้อยจะไม่ให้ข้อมูลหรือความเห็นที่แย้งผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่เองจะนิยมผู้น้อยที่หัวอ่อนและเชื่อฟัง
                         ๓) ความขาดความมานะอดทน ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำมาหากินคนไทยส่วนใหญ่จึงมีนิสัยสบายๆ ไม่ดิ้นรนต่อสู้ ความมานะอดทนจึงมีน้อย แต่ปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่เริ่มขัดสน ความต้องการทางวัตถุเริ่มมีมากขึ้น เมื่อประชาชนยังขาดความมานะอดทน จึงทำให้เกิดความคับข้องใจและเกิดการแสวงหาช่องทางที่จะรวยทางลัด ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
                         ๔) ความขาดความสามารถในการทำงานเป็นคณะ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยความเป็นตัวของตัวเอง คนไทยจึงมีปัญหาในการทำงานเป็นหมู่คณะ  นอกจากจะมีเหตุคับขัน ชั่วครั้งชั่วคราว การทำงานเป็นหมู่คณะ การประสานงานระหว่างบุคคลและหน่วยงานจึงมักประสบปัญหาจากการทะเลาะเบาะแว้ง เกี่ยงงาน อิจฉาริษยา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ดร.เอกวิทย์ได้เสนอว่าหากไม่เร่งแก้ไขและมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะเป็นการบั่นทอนพลังในประเทศชาติ และทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ดร.เอกวิทย์ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในชนบทที่ชีวิตยังต้องพึ่งพากันจะมีรูปแบบของการทำงานเป็นหมู่คณะ เช่น การลงแขก การทำบุญ ที่ทุกคนจะมาร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน และไม่มีการบังคับสั่งการ จึงเป็นแนวทางที่เราน่าจะเรียนรู้และนำมาใช้ประโยชน์
                         ๕) ความขาดความสามารถในการค้าธุรกิจ ดร.เอกวิทย์ได้หยิบยกคำกล่าวว่า สิบพ่อค้าไม่เท่ากับพระยาเลี้ยง เพื่อสะท้อนให้เห็นค่านิยมดั้งเดิมของคนไทยที่ชอบรับราชการ จึงมักปล่อยให้ธุรกิจอยู่ในมือคนต่างชาติ ดร.เอกวิทย์ได้แสดงความห่วงใยว่านักธุรกิจเหล่านี้อาจขาดสำนึกในประโยชน์ของชาติ และมักจะควบคุมให้การค้าตกอยู่ในแวดวงของตน  ทำให้คนไทยไม่สามารถพัฒนาตนเองและก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สำคัญได้ ในบรรดาคนไทยที่เริ่มสนใจธุรกิจจะพบการแข่งขันจากนักธุรกิจที่รวมกลุ่มกัน จนยากที่จะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ อีกทั้งคนไทยยังมีนิสัยชอบความสุขสำราญ จึงมักไม่ประสบความสำเร็จ แต่กลับหวนมาใช้ช่องโหว่ในวงราชการประพฤติมิชอบเพื่อหาประโยชน์ส่วนตนแทน
                         ๖) ความอ่อนแอเมื่อขาดผู้นำ ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยลักษณะเฉพาะของคนไทยดังที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น เช่น การขาดระเบียบวินัย ความไม่สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ คนไทยจึงมีความอ่อนแอเมื่อขาดผู้นำ และมักจะรอคอยอัศวินม้าขาว หรือพระสยามเทวาธิราช ซึ่ง ดร.เอกวิทย์ได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาและผนึกกำลัง คนไทยธรรมดาๆ ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อผลักดันการพัฒนาไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
                         ๗) ความชอบเสี่ยงโชคการพนัน ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยความเป็นอยู่ที่สุขสบาย คนไทยจึงชอบการเสี่ยงโชค เล่นการพนันเพื่อผ่อนคลาย แต่ปัจจุบันการเสี่ยงโชคการพนันได้กลายเป็นช่องทางของคนที่ขาดความหวัง จะแสวงหาความร่ำรวย และเพิ่มเติมรสชาติให้กับชีวิต น่าสนใจที่ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าผลพวงจากนิสัยชอบเสี่ยงโชค  เล่นการพนัน ทำให้คนไทยมีนิสัยใจใหญ่ กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยงในการตัดสินใจ ซึ่งหากใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
                         ๘) ความชอบสนุกทุกโอกาส ดร.เอกวิทย์ได้วิเคราะห์ว่าด้วยความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ทำให้คนไทยมีนิสัยรักสนุก สามารถสนุกได้ทุกโอกาส และร่วมสนุกได้ทุกวัฒนธรรม  คนไทยจึงดูเหมือนมีสุขภาพจิตที่ดี แต่ ดร.เอกวิทย์ได้เตือนอย่างครูว่าการสนุกโดยไม่มีขอบเขต  จะทำให้กลายเป็นคนเจ้าสำราญ สิ้นเปลืองเวลา ทรัพย์สินเงินทอง มิหนำซ้ำจะถูกมองว่าเป็นคนไร้แก่นสารได้
                         ๙) ความเชื่อในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ดร.เอกวิทย์ได้หยิบยกตัวอย่างในวิถีชีวิตของคนไทยมาแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และในยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้แพร่กระจายไป แต่คนไทยส่วนใหญ่เชื่อถือในไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ยิ่งคนไทยมีความรู้สึกท้อแท้ไร้ที่พึ่ง การหวังพึ่งอำนาจลี้ลับดูจะมีมากขึ้น
                   ๔.ภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชน
                         ในการวิเคราะห์สังคมไทย ดร.เอกวิทย์ได้กล่าวถึงความเป็นอิสระของชุมชนที่จะพึ่งพาตนเอง และเรียนรู้ที่จะปรับให้มีชีวิตเกื้อกูลกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิธรรม และสติปัญญาที่บรรพบุรุษไทยได้สั่งสมมา จึงเป็นเรื่องที่ ดร.เอกวิทย์ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่รับสั่งไว้ว่า

                                    “ประชาชนนั่นแหละเขามีความรู้ เขาทำงานมาหลายชั่วคนแล้ว เขาทำกันอย่างดี เขามีความเฉลียวฉลาด เขารู้ว่าตรงไหนควรทำกสิกรรม เขารู้ว่าที่ไหนควรเก็บรักษา

                        เมื่อประกอบกับจากการวิเคราะห์พลวัตรของสังคมไทย และความเข้าใจเรื่อง วัฒนธรรม ดังกล่าวข้างต้น ดร. เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องวิถีชีวิต เมื่อผนวกเข้ากับความคิดของนักวิชาการต่างๆ แล้ว ทำให้ ดร. เอกวิทย์มั่นใจและเชื่อมั่นใน ศักยภาพ และ ภูมิปัญญา ของประชาชน โดย ดร. เอกวิทย์ได้กล่าวไว้ว่า

                                    แท้ที่จริง ชาวบ้าน ที่ผมได้เรียนรู้ด้วยนั้นเป็น ครู ที่ยิ่งใหญ่.. คนเหล่านี้เป็นผลิตของการปรับตัวอันลึกซึ้ง ซับซ้อนและยาวนานของชีวิตไทยที่ได้ผ่านกาลเวลาและมรสุม  รู้ร้อนรู้เย็นประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมามากจนเกิดปัญญาอย่างหลากหลาย
                       
                                    “ได้พบอีกเช่นกันว่า ชาวบ้านไทยธรรมดาๆ มีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวสูงมากและนี่คือ พลังของสังคมไทยที่เป็นความหวังในทัศนะของผม

                                    ประชาชนเป็นเจ้าของชีวิตและเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของเขาเอง เขาสู้มามากในอดีต ประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เขาได้สั่งสมความรู้นั้นไว้หลายชั่วคน คนเกิดทีหลังเรียนรู้จากคนเกิดก่อน เรียนรู้ประสบการณ์และปรีชาญาณสั่งสม ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ต่อมาเรียนรู้ความรู้สมัยใหม่จากโลกภายนอกรู้ความจริงหลายอย่างที่อธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์  สรุปแล้วประชาชนไม่โง่ จริงอยู่อาจเจ็บและจน แต่ไม่โง่ ถ้าให้อิสระเขาคิดตัดสินใจในเรื่องของเขา เขามักจะตัดสินใจได้ดี

                        จากข้อความดังยกมาโดยสังเขปข้างต้น จะเห็นว่า ดร.เอกวิทย์ได้ยกย่อง ชาวบ้าน ในฐานะที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม ในฐานะผู้ที่ได้เรียนรู้โดยการลองผิดลองถูกและสะสมความรู้ความเฉลียวฉลาดไว้ ซึ่ง ดร.เอกวิทย์กล้าหาญมากที่จะทวนกระแสไปยอมรับนับถือสติปัญญาความคิด ความรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้าน ในขณะที่โลกกำลังคลั่งไคล้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กันอยู่ โดยคิดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถนำมาซึ่งความสุขต่างๆ ได้ ซึ่ง ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่า

                                    “ความรู้นี้ มิได้จำกัดอยู่แค่ความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์แต่ปรีชาญาณดั้งเดิมที่มีอยู่ในจิตใจของคนบทแผ่นดินนี้ อันเกิดจากการสั่งสมสืบสานประสบการณ์ ได้ถูกทดสอบความคิดของภูมิปัญญาเหล่านี้มามาก ก็ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเช่นกัน

                        ดร.เอกวิทย์ได้เสนอว่า ภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชน เป็นองค์ประกอบที่ล้ำค่าของวัฒนธรรมไทย และมีความห่วงใยที่อิทธิพลตะวันตกได้ครอบงำวิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทย จนละเลยภูมิปัญญาดั้งเดิม หันมานิยมกระแสเมืองหลวง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความต้องการที่ยากจะสนองได้ ดร.เอกวิทย์จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของปรีชาญาณที่ชุมชนไทยได้สั่งสมมา ซึ่งอาจารย์มั่นใจว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติของสังคมในอนาคตได้ ซึ่ง ดร.เอกวิทย์ได้สรุปว่า “ภูมิปัญญาไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ควรแก่การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำมาใช้ให้สมประโยชน์ต่อไปบนหลักของความพอดี พองาม และพอเพียง
                         หากจะประมวลสภาพของสังคมไทยจากข้อวิเคราะห์ของ ดร.เอกวิทย์  ในยุคสมัยต่างๆ คงพอสรุปได้ว่าประกอบด้วยองค์ประกอบหลักที่ได้แก่ สถาบันที่เป็นองค์คุณแห่งชาติ การมีโครงสร้างสังคมแบบเครือญาติ การมีภาษาประจำชาติ การมีลักษณะนิสัยประจำชาติ บางประการร่วมกัน และความหลากหลายมั่งคั่งของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่วางอยู่บนพื้นฐานของ ภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชน