จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

งานวัฒนธรรม ใครทำ ?

งานวัฒนธรรม
ใครทำ?

 

ผศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

ความเข้าใจเบื้องต้น เรื่อง วัฒนธรรม

          ในที่นี่ขอเสนอมโนทัศน์เบื้องต้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องวัฒนธรรมในประเด็นเท่าที่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนี้

            . ความสำคัญของวัฒนธรรม

     ชาติไทยเป็นชาติที่มีมรดกทางวัฒนธรรมอันแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติหลายประการ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักดิศรีของชาติ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาจิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม อันจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาและความมั่นคง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศชาติ ฉะนั้น วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนในชาติควรได้ร่วมมือกันทำนุบำรุงรักษา ส่งเสริมและเผยแพร่ให้ดำเนินไปอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๑๓, หน้า ๑) เพื่อให้วัฒนธรรมของชาติ ได้คงอยู่สืบไปอีกนานเท่านาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน พระบรมราโชวาท ไว้ว่า (กรมศิลปากร, ๒๕๑๓, หน้า ๕๑)

งานด้านการศึกษา ศิลปและวัฒนธรรม นั้น เป็นงานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุและองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป” 

     ในแนวทางในการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.. ๒๕๒๙ ตามนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัฒนธรรมไว้ ๓ ลักษณะคือ (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๓๔, หน้า ๕ - )
                 .วัฒนธรรมเป็นทั้งพื้นฐานและเครื่องมือสำหรับสร้างเสริมความสามัคคีกลมเกลียว และความเป็นปึกแผ่นในหมู่ประชาชน วัฒนธรรมจะช่วยชักนำให้คนประพฤติศีล ปฏิบัติธรรม และพร้อมที่จะเผชิญชีวิตร่วมกันบนผืนแผ่นดินเดียวกันทั้งในยามสุขและยามทุกข์
                . วัฒนธรรมเป็นกรอบและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จึงถือได้ว่าวัฒนธรรมเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของสมาชิกของสังคม ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดทั้งตอบสนองความต้องการของสมาชิกและของสังคมได้
                  ๓. วัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ เป็นลักษณะเด่นประจำชาติ หรือประจำหมู่คณะ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชนในชาติมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน อันจะทำให้บังเกิดความรักสามัคคีกัน และจะส่งผลต่อการรวมพลังของหมู่คณะและธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ

            ๒. ความหมายของวัฒนธรรม

               วัฒนธรรม หมายถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนและในสังคมโดยส่วนรวม ซึ่งกินความรวมถึงทั้งสังคมวัฒนธรรม และ ศิลปวัฒนธรรม วัฒนธรรมมิใช่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลง มีพลวัต ตลอดเวลา โดยวัฒนธรรมมุ่งความอยู่ดี มีสุข ของคนและสังคมโดยส่วนรวม วัฒนธรรมจึงต้องเชื่อมโยงระหว่างสภาพในอดีต สู่ปัจจุบันและสู่อนาคต ต้องเชื่อมโยงระหว่างคนในสังคมซึ่งมีวัยต่างกัน ต้องเชื่อมโยงระหว่างสภาพตนเองต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและสภาพรอบโลก ต้องเชื่อมโยงระหว่างความรู้ด้านต่างๆ ทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และต้องเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติ วัฒนธรรมจะพัฒนางอกงามได้ ต้องอาศัยความเชื่อมโยงและความเข้าใจในความหลากหลาย ความแตกต่าง และจุดร่วมของวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมของชาติและวัฒนธรรมของโลก ซึ่งมีวิวัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลง มีพลวัตที่ไม่หยุดนิ่ง การประสาน เชื่อมโยงและถักทอวิถีชีวิตของคนและชุมชนต่าง ๆ รอบโลก และกับธรรมชาติ เท่านั้นที่จะทำให้การพัฒนายั่งยืนได้ (สิปปนนท์ เกตุทัตุ, ๒๕๔๒)

     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. ๒๕๒๕ (๒๕๓๐, หน้า ๗๔๖) ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรม ไว้เป็น ๔ นัย ดังนี้ ๑) สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ ๒) วิถีชีวิตของหมู่คณะ ๓) ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียว ก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน และ ๔) พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน

     ควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๓๘, หน้า ๙๒๙๓) เมื่อคราวแสดงปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน เรื่องวัฒนธรรมกับการพัฒนาก็ได้อธิบายความหมายของวัฒนธรรมไว้เป็นหลายนัยอย่างน่าพิจารณา ดังนี้
วัฒนธรรม เป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ
วัฒนธรรม เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ทั้งหมดที่ได้ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นๆ อยู่รอดและเจริญสืบต่อมาได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้

วัฒนธรรม คือผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงาม ที่สังคมนั้นๆ ได้ทำไว้ หรือได้สั่งสมมาจนถึงบัดนี้

วัฒนธรรม เป็นทั้งสิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามสืบมา และเป็นเนื้อตัวของความเจริญงอกงามที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามต่อไป ตลอดจนเป็นเครื่องวัดระดับความเจริญงอกงามของสังคมนั้นๆ
               ความหมายของวัฒนธรรมแม้จะดูแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ก็ล้วนมีคุณค่าในตัวเองในการชี้ให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของวัฒนธรรม จึงยังคงมีผู้ใช้อยู่ทุกความหมาย ซึ่งศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้กรุณาสรุปนำทางไว้ให้แล้วว่า ไม่ว่าเราจะนิยามวัฒนธรรมกันอย่างวิจิตรพิศดารหรือลึกซึ้งอย่างไรก็ตาม แก่นสารจริงๆ ของเรื่องทั้งหมดก็คือชีวิตคนนั่นเอง พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ดังได้ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น ผนวกเข้ากับทัศนะอันลุ่มลึกของศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ที่ว่า วัฒนธรรมคือวิถีดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นความเจริญงอกงามของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นการแสดงออก และการสื่อความหมายของความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มชน เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์ ที่เห็นได้ทั้งในรูปธรรมและนามธรรม และแน่นอนที่สุด วัฒนธรรมเป็นผลแห่งพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมี ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นเพื่อนมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยีทั้งปวง (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ๒๕๓๕, หน้า ๕)

            ๓. ธรรมชาติของวัฒนธรรม

               สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (๒๕๓๔, หน้า ๕) ได้กล่าวถึงธรรมชาติของวัฒนธรรมดังนี้
               ๑. วัฒนธรรมเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติร่วมกัน เป็นแนวเดียวกันอย่างต่อเนื่องของสมาชิกในสังคม มีการสืบทอดเป็นมรดกทางสังคมต่อกันมาจากอดีตหรืออาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ หรืออาจรับเอาสิ่งที่เผยแพร่มาจากสังคมอื่น ทั้งหมดนี้หากสมาชิกยอมรับ และยึดถือเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมถือว่าเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้น
                  ๒. วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขและกาลเวลา เมื่อมีการประดิษฐ์หรือค้นพบสิ่งใหม่ วิธีใหม่ที่ใช้แก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคมได้ดีกว่า ย่อมทำให้สมาชิกของสังคมเกิดความนิยม และในที่สุดอาจเลิกใช้วัฒนธรรมเดิม การจะรักษาวัฒนธรรมเดิมไว้จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาวัฒนธรรมนั้นให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพตามยุคสมัย
                 ๓. วัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนในสังคมใหญ่ ย่อมมีเนื้อหา รูปแบบ บทบาท และหน้าที่แตกต่างกันไป หากว่าความแตกต่างนั้นไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวมแล้ว ก็สมควรให้กลุ่มชนทั้งหลายมีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน สภาพความแตกต่างเช่นนี้เป็นธรรมชาติของวัฒนธรรม
               ๔. วัฒนธรรมจำแนกได้เป็นหลายประเภท เช่น วัฒนธรรมประจำชาติ วัฒนธรรมสากล และวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกรอบความคิดและวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ใช้ของผู้จำแนกการจัดหมวดหมู่ของวัฒนธรรมเพื่อความสะดวกในการสื่อความและการประสานงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินงานวัฒนธรรม

            ๔. องค์ประกอบของวัฒนธรรม

               ในที่นี้ผู้นำเสนอได้ศึกษาวัฒนธรรมในฐานะองค์รวม ซึ่งประกอบด้วยระบบใหญ่ๆ อย่างน้อย ๓ ระบบซ้อนรวมกันอยู่อย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงตามที่อานันท์ กาญจนพันธุ์ (๒๕๓๘, หน้า ๕ - ) เสนอไว้ ดังนี้
               ๑. ระบบคุณค่า  ซึ่งหมายถึง ศีลธรรมของส่วนรวม และจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ที่สร้างสรรค์  มักแสดงออกในรูปของจักรวาลความคิดที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความอุดมสมบูรณ์ และความยั่งยืนของสังคมและธรรมชาติ บนพื้นฐานของการเคารพต่อส่วนรวมและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ในสังคมที่เป็นจริงจะเห็นระบบคุณค่านี้ในรูปของ ศาสนา และความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
               ๒. ระบบภูมิปัญญา  ซึ่งครอบคลุมวิธีคิดของสังคม โดยเฉพาะการจัดการกับความสัมพันธ์ทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติแวดล้อม  มักปรากฏให้เห็นในรูปของกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่ และการถ่ายทอดความรู้ผ่านทางองค์กรทางสังคมในท้องถิ่น เพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม  นอกจากนั้นยังสามารถเห็นได้จากแบบแผนของความสัมพันธ์ทางสังคม
              ๓. ระบบอุดมการณ์อำนาจ หมายถึง ศักดิ์ศรี และสิทธิของความเป็นมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่จะเสริมสร้างความมั่นใจและอำนาจให้กับคนในชุมชนหรือสังคมท้องถิ่น เพื่อเป็นพลังในการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ผลิตใหม่ และถ่ายทอดภูมิปัญญา ในการพัฒนาสังคมให้เป็นไปตามหลักของศีลธรรมที่เคารพความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรม และความยั่งยืนของธรรมชาติ นอกจากนั้นอุดมการณ์อำนาจนี้ยังจะแสดงถึงศักยภาพของชุมชนในการผลิตใหม่ของความเป็นชุมชนเพื่อรักษาความเป็นอิสระของตนเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการครอบงำจากภายนอก เพราะอุดมการณ์อำนาจนั้นเป็นระบบสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน ท้องถิ่น เพศ หรือชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถเป็นพลังสำคัญในการพัฒนา และศึกษามิติทางวัฒนธรรม ในความหมายที่รวมถึงองค์ประกอบ ๓ ส่วนด้วยกัน คือ
         ส่วนแรก ความหมายของวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง คุณค่าของความเป็นมนุษย์ จารีตกฎเกณฑ์ที่หลากหลาย และอำนาจของชุมชนท้องถิ่น
            ส่วนที่สอง ระบบคิดทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง วิธีคิดแบบองค์รวม ที่มองความเชื่อมโยงอย่างมีบริบทและเงื่อนไขโดยไม่แยกส่วนต่าง ๆ ออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อการวิเคราะห์และค้นหาหลักการที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคุณค่า กฎเกณฑ์ และอำนาจของชุมชน ที่เป็นพลังสำคัญของชุมชนในการสร้างสรรค์และผลิตใหม่
            ส่วนที่สาม กระบวนการทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง การเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้ สร้างสรรค์ ผลิตใหม่ และปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้บริบททางสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ชุมชนต้องคิดค้นและแสวงหาทิศทางการพัฒนาที่หลากหลาย เพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และการเคารพหลักการของวัฒนธรรมอื่น กระบวนการทางวัฒนธรรมนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการพัฒนา

            ๕. วัฒนธรรมกับการพัฒนา

     องค์การสหประชาชาติและองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรม จึงได้ประกาศให้ปี พ.. ๒๕๓๑ - ๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม” (World Decade for Cultural Development) โดยได้ขอให้รัฐสมาชิกร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายของทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม ๔ ประการคือ ๑) เน้นการใช้มิติวัฒนธรรมในกระบวนการพัฒนา ๒) เสริมสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น  ) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานวัฒนธรรม  ) ส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (สมัชชาศิลปวัฒนธรรมไทย สภาผู้แทนราษฎร, ..., หน้า ๑) ซึ่งพระธรรมปิฎก (.. ปยุตฺโต) (๒๕๓๘, หน้า ๘๗ - ๘๘) ได้ชี้ให้เห็นว่าการเน้นความสำคัญของมิติวัฒนธรรมในการพัฒนาเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการตื่นตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงนี้ของโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มองเห็นความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาที่ผ่านมา ว่าถึงแม้จะประสบความสำเร็จที่มีคุณค่าประโยชน์ แก้ปัญหาให้แก่มนุษยชาติได้มากมายก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่มุ่งความเจริญทางวัตถุ การขยายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเรื่องนำ จนกระทั่งทำให้รู้สึกกันว่าความเจริญนั้นได้มาถึงจุดติดตันแล้ว ถ้าขืนดำเนินต่อไปในทิศทางนั้น มนุษยชาติอาจจะถึงกับประสบความพินาศสูญสิ้น ไปก็ได้
     นักวิชาการและนักพัฒนาจำนวนหนึ่งเห็นว่า การพัฒนาที่มุ่งเน้นอยู่แต่การบริโภคมากกว่าการสร้างสรรค์สังคมอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของต้นทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้ว ผลที่ตามมาก็คือ วัฒนธรรมต้องสูญเสียพลังและไม่สามารถเป็นตัวกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไปได้ ในขณะเดียวกันการให้ความหมายของวัฒนธรรม ไว้กว้างๆ มักจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะทำให้ขาดความชัดเจน เลื่อนลอย และไร้พลังที่จะมีต่อสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมให้ถ่องแท้และชัดเจนเสียก่อน

     ศรีศักร  วัลลิโภดม (๒๕๓๖, หน้า ๑๔ - ๒๖) ได้ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจวัฒนธรรมในความหมายของศิลปวัฒนธรรมคือ มองวัฒนธรรมว่าเป็นเพียงรูปแบบของศิลปและประเพณี ปัญหาสำคัญของการให้ความหมายของวัฒนธรรมในทำนองนี้คือ ทำให้มองเห็นวัฒนธรรมในลักษณะหยุดนิ่ง ล่องลอย และไร้ชีวิตชีวา เพราะขาดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มชนผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมนั้น ซึ่งมักมีพัฒนาการที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นน่าจะต้องหันมามองวัฒนธรรมในอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่าสังคมวัฒนธรรมหรือชีวิตวัฒนธรรมเพราะการมองวัฒนธรรมในลักษณะนี้จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจวิเคราะห์สังคมและชีวิตของกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจลักษณะทางวัฒนธรรมที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมอยู่เสมอ เพราะไม่มีวัฒนธรรมใดอยู่โดดเดี่ยวแต่ต้องสัมพันธ์กีนอย่างซับซ้อนหลายชั้น ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก
     หากจะพิจารณาความหมายของวัฒนธรรมในเชิงชีวิตวัฒนธรรมแล้ว วัฒนธรรมน่าจะถือได้ว่าเป็นองค์รวมของวิธีคิด คุณค่า และอุดมการณ์ของสังคมที่มนุษย์สร้างสรรค์และสะสมขึ้นมา ในความพยายามที่จะแสดงออกถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ และการปรับตัวกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคมและธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกัน ตามนัยนี้วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนพลังที่อยู่เบื้องหลังศิลปะ และวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์ ซึ่งจะมีความหลากหลายและซับซ้อนแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีพลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการผลิตใหม่ของชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขและบริบทของสภาวะแวดล้อม

      ประเวศ  วะสี (๒๕๓๗, หน้า ๑๓ - ๒๐) ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าเข้าใจความหมายของวัฒนธรรมในเชิงชีวิตวัฒนธรรมแล้วจะสามารถสรุปคุณลักษณะของวัฒนธรรมได้ ๘ ประการ คือ
      . มีความหลากหลาย กระจายอำนาจ จึงส่งเสริมการเมืองระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมจะมีลักษณะหลากหลายไปตามชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ถ้าเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมก็ต้องส่งเสริมความเป็นตัวเองทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ก็เท่ากับเป็นการกระจายอำนาจ และส่งเสริมการเมืองระบอบประชาธิปไตย การเห็นคุณค่าและส่งเสริมวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นการพัฒนาประชาธิปไตย
     . กระจายรายได้และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  จุดแข็งของไทยที่คนอื่นไม่มีคือ วัฒนธรรมไทย ควรคิดเรื่องเศรษฐกิจกับวัฒนธรรมให้เชื่อมต่อกัน เพราะเศรษฐกิจในรูปแบบปัจจุบันมีลักษณะกระจุกรายได้สูง วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้
      ๓. ส่งเสริมศักดิ์ศรีของชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรม คือ ภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีรากย้อนไปไกล ถ้าเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นย่อมมีศักดิ์ศรี ถ้าชุมชนท้องถิ่นมีศักดิ์ศรีคนทั้งประเทศก็จะมีเกียรติ มีความสุข เป็นการเปิดทางเลือกกว้างขวางอยู่ให้ผู้คน ลดความเครียดและความขัดแย้งในสังคมลง
      ๔. มีความเป็นบูรณาการ วัฒนธรรมเป็นเรื่องของความเชื่อมโยงอย่างเป็นบูรณาการทุกมิติ วัฒนธรรมเป็นเรื่องของคนทั้งหมดในชุมชนหรือสังคม ที่มีความเชื่อและระบบคุณค่าและการปฏิบัติร่วมกัน เป็นทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ จิตใจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปหมดเป็นเรื่องเดียวกัน
           ๕. สร้างความบรรสานสอดคล้อง  (harmony) และความสมดุลยั่งยืน เพราะความเป็นบูรณาการและความที่มีรากลึกยาวนาน วัฒนธรรมจึงมีลักษณะผสานหรือมีความบรรสานสอดคล้องระหว่างมนุษย์ทั้งกายและใจ กับสังคม และกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามธรรมชาติ
    . มีการพัฒนาจิตใจและจิตวิญญาณอันลึกซึ้ง  การพัฒนาทางวัตถุไม่คำนึงถึงคุณค่าทางจิตใจ และจิตวิญญาณ  วัฒนธรรมคำนึงถึงเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งสุนทรียกรรมให้ความสุขทางจิตใจ
      ๗. ส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคม ต้องส่งเสริมให้สังคมเข้มแข็งจึงจะถ่วงดุลอำนาจและฟื้นฟูบูรณะศีลธรรมได้ วัฒนธรรมเป็นเครื่องส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคม เพราะวัฒนธรรมต้องมีความเป็นชุมชน ความเป็นชุมชนต้องมีองค์กรชุมชน การมีองค์กรชุมชนทำให้ชุมชนหรือสังคมเข้มแข็ง
             ๘. เป็นการผดุงศีลธรรมของสังคม  เมื่อวัฒนธรรมมีลักษณะทั้ง ๗ ประการดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการผดุงศีลธรรม

     ด้วยเหตุนี้กระบวนการทางวัฒนธรรมต่างๆ จึงมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างมาก เพราะช่วยให้เข้าใจลักษณะที่เคลื่อนไหวของวัฒนธรรม ในความพยายามที่จะสืบทอดคุณค่าของความเป็นมนุษย์และอำนาจหรือศักดิ์ศรีของชุมชน ดังจะเห็นได้จากกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่ และการปรับตัวของชุมชน   ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเป็นกรณีๆ ไป  เพื่อจะเข้าใจถึงศักยภาพในการพัฒนาของชุมชนระดับต่างๆ

     ความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางวัฒนธรรมกับการพัฒนา อาจถือได้ว่า มิติทางวัฒนธรรมมีฐานะเป็นพลังที่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนาในด้านหลักๆ อย่างน้อย ๓ ด้าน คือ
     . ด้านเป้าหมายการพัฒนา มิติทางวัฒนธรรม จะช่วยกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาให้ชัดเจนตามความหมายของวัฒนธรรม ซึ่งสามารถจำแนกออกได้    เป้าหมายที่เชื่อมโยงกัน  คือ การเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ การเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม และความยั่งยืนของธรรมชาติแวดล้อม
    . ด้านทิศทางการพัฒนา มิติทางวัฒนธรรมจะช่วยให้มองเห็นทิศทางการพัฒนาที่หลากหลายแนวทางมากขึ้น แทนที่จะจำกัดอยู่เพียงแนวทางเดียว เพราะระบบคิดทางวัฒนธรรมจะให้ความสำคัญกับการคิดอย่างมีบริบทซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี และยังช่วยในการศึกษาปัญหาของการพัฒนาอีกด้วย ทำให้เกิดทางเลือกในการพัฒนาและการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาระหว่างชุมชนแทนการครอบงำทิศทางการพัฒนา
    ๓. ด้านกระบวนการพัฒนา มิติทางวัฒนธรรมจะช่วยให้มองเห็นความสำคัญของศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาตนเอง เพราะสามารถเข้าใจว่ากระบวนการทางวัฒนธรรมต่างๆ นั้น เริ่มต้นได้ในชุมชนเอง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่ และการปรับตัว ซึ่งจะผลักดันให้การพัฒนาสอดรับกับบริบททางสังคม และธรรมชาติแวดล้อมของชุมชนมากที่สุด ตลอดจนการแลกเปลี่ยน และความร่วมมือกับสังคมภายนอกในระดับต่างๆ
     ในมิติทางวัฒนธรรม การพัฒนาจึงไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการมองอย่างกว้างๆ ในด้านบวกทิศทางเดียว แต่การพัฒนาหมายถึง การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจและสิทธิที่ให้ทุกส่วนของสังคมสามารถกำหนดวิถีชีวิตในความเป็นมนุษย์ของตนเองได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

งานวัฒนธรรม : ทำอย่างไร

อานันท์ กาญจนพันธุ์ (๒๕๓๘, หน้า ๓๒ - ๓๗) ได้เสนอว่าแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาแท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขาดมิติวัฒนธรรม หากแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดทางวัฒนธรรมแบบหยุดนิ่งและตายตัว จึงทำให้มองการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น ซึ่งผิดทั้งข้อเท็จจริงและธรรมชาติของสังคมมนุษย์ อีกทั้งยังแสดงนัยของการครอบงำอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนการทัศน์ ด้วยการหันมาหามิติวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวและมีชีวิตแทนที่ เพื่อที่จะได้เข้าใจทางเลือกในการพัฒนาให้มีทิศทางที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถกำหนดทางเลือกในการพัฒนาได้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมและวัฒนธรรม
ตามนัยดังกล่าวการลงทุนพัฒนาใดๆ จำต้องมีการลงทุนทางวัฒนธรรม ความคิดควบคู่ไปด้วยหากการพัฒนานั้นหมายถึงการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของความเป็นมนุษย์ เพราะการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมนั้นประกอบไปด้วยกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การเรียนรู้ การสร้างสรรค์ การผลิตใหม่ และการปรับตัวเกี่ยวกับระบบคุณค่าอุดมการณ์ ระบบภูมิปัญญา และระบบสิทธิอำนาจ ซึ่งต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนลงแรง ในทำนองเดียวกับการลงทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และด้านการศึกษา
ในการลงทุนพัฒนาทางวัฒนธรรมความคิด เพื่อให้มิติวัฒนธรรมแบบองค์รวมสามารถเป็นพลังชี้นำแนวทางการพัฒนาทางการเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการเมืองได้นั้นคงต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า ทุกสังคมมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสะสมอยู่ก่อนแล้วทั้งสิ้น ในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ศีลธรรม ศิลปะ และภูมิปัญญา การสูญเสียต้นทุนทางวัฒนธรรมเหล่านั้นไป ก็จะทำให้สังคมนั้นล้มละลายทั้งทางศีลธรรม และด้านอื่นๆ ตามมา ไม่แตกต่างมากนักกับการล้มละลายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้นประเด็นสำคัญในการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนาในมิติวัฒนธรรมจึงไม่ใช่เพียงการทำให้ทันโลกทันสมัยเท่านั้น หากแต่อยู่ที่กระบวนการต่างๆ ๔ ประการ คือ
     . การเสริมสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรม มนุษย์ทุกคนต้องการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถแสดงออกได้ดีที่สุดในเวทีที่เรียกว่า พื้นที่ทางวัฒนธรรม เพราะพื้นที่นี้ถือเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน ปรากฏในรูปต่างๆ ทั้งภูมิปัญญาความรู้ อุดมการณ์ คุณค่าทางศีลธรรม และทรัพยากรของส่วนรวม ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมของการรวมหมู่ ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และเกิดความต้องการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ร่วมกัน ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมนี้มนุษย์จะสามารถเรียนรู้ สร้างสรรค์ ผลิตใหม่ และปรับตัวได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงเปรียบได้กับต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นเสมือนพลังของชุมชนในการเปลี่ยนแปลง
     ๒. การเสริมสร้างประชาสังคม ซึ่งเป็นการพัฒนาในมิติทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง เพราะแสดงถึงความสามารถในการผลิตใหม่ทางวัฒนธรรมที่ดึงให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้อย่างแท้จริง ด้วยการเข้ามามีส่วนในการวางกฎเกณฑ์และกติกาของสังคมเพื่อให้ทุกคนมีส่วนทั้งรับผิดชอบ ตรวจสอบ และได้ประโยชน์จากสังคมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การพัฒนาในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมืองก้าวหน้าไปได้พร้อมๆ กัน เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอกัน ชุมชนท้องถิ่นก็สามารถปกป้องสิทธิพื้นฐานของตนได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
     ๓. การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชน  กระบวนการสร้างประชาสังคมจะเป็นจริงได้นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ องค์กรชุมชนต้องเข้มแข็ง เพื่อจะได้ทำหน้าที่ทั้งตรวจสอบ และปกป้องสิทธิของท้องถิ่นได้เต็มที่ นอกจากนั้นความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนยังจะมีส่วนช่วยเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพมากขึ้น ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนา ตลอดจนเป็นกำลังพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยแบบประชาสังคมในระดับรากหญ้าต่อไป
             ๔. การเคารพสิทธิของความแตกต่างหลากหลายของพหุสังคม  มิติวัฒนธรรมนั้นมีลักษณะเด่นอยู่ที่การแสดงออกถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์และการเคารพสิทธิชุมชน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาไปสู่ความเป็นพหุสังคม  ที่ผู้คนแต่ต่างกันทั้งในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ ระบบการผลิต วิถีชีวิต และชาติพันธุ์ ดังเช่นสังคมไทยในปัจจุบัน ยิ่งสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นเท่าใด ยิ่งต้องเน้นในระบบคุณค่าที่เห็นคนเป็นคน และเน้นความคิดที่เคารพสิทธิของกันและกันมากยิ่งขึ้น

ประเวศ วะสี (๒๕๓๗, หน้า ๒๓ - ๒๖) ได้เสนอยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางใหญ่ๆ สำหรับส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมกับการพัฒนาไว้ ๗ ประการดังนี้
     . การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้ทั่วทั้งสังคมว่าวัฒนธรรมคืออะไร และวัฒนธรรมสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างไร เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว สังคมก็จะปฏิบัติถูกต้องได้เอง
    ๒. การสนับสนุนเวทีทางวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น ควรสนับสนุนเวทีวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลายในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ริเริ่มโดยชุมชนท้องถิ่น
   ๓. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว  ไทยเคยมีวัฒนธรรมครอบครัวที่อบอุ่น แต่บัดนี้สถาบันครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการพัฒนาแบบทันสมัย
     ๔. ส่งเสริมองค์กรชุมชนและกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน ชุมชนที่เข้มแข็ง คือ ผู้ปฏิบัติวัฒนธรรม และชุมชนที่เข้มแข็งจะก่อให้เกิดการพัฒนาทุกด้าน
   ๕. ปรับการศึกษาให้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไทย การศึกษาของไทยในปัจจุบันตัดขาดจากรากทางวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญของความเสื่อมสูญทางวัฒนธรรมและเกิดปัญหาต่างๆ จากความขาดแคลนทางวัฒนธรรม ควรปรับการศึกษาให้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมไทย เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติและการซึมซับ ถ้าการศึกษาเอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง การศึกษาก็จะสัมผัสกับวัฒนธรรม
        ๖. วัฒนธรรมกับเศรษฐกิจ เนื่องจากวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และการรักษาสภาพแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ควรร่วมมือกันสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้ชัดเจน และกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำมิติทางวัฒนธรรมเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจ
   . กองทุนและการบริหารงานวัฒนธรรม ในการส่งเสริมวัฒนธรรมกับการพัฒนาต้องการเงินทุนและการบริหารจัดการที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ควรมีการเพิ่มเงินกองทุนวัฒนธรรมให้มีจำนวนมากพอ

การดำเนินงานวัฒนธรรม : “สิทธิ และ หน้าที่ ของประชาชน

 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดไว้ในหมวด ๔ หน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา ๗๓ ว่า บุคคลมีหน้าที่... พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๑๒ สิทธิชุมชน มาตรา ๖๖ ว่า บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมนั้นเป็นทั้ง สิทธิ และ หน้าที่ ของประชาชน ทั้งที่เป็น บุคคล ครอบครัว และ ชุมชน ที่เป็น เจ้าของวัฒนธรรม ที่จะต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และดำเนินงานวัฒนธรรม (ทั้งในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การส่งเสริม การเผยแพร่ การสืบทอด และการพัฒนา) ด้วยการ ระเบิดจากข้างใน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพึ่งตนเอง พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการที่จะทำให้เกิดการกินดี อยู่ดี และมีความสุขได้อย่างมีศักดิ์ศรี ดังนั้น ประชาชนจึงเป็นแกนกลาง (ไข่แดง) ของการดำเนินงานวัฒนธรรมของตนเองในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ดังแสดงไว้ในภาพ ๑


การสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรม : “อำนาจ และ หน้าที่ ขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น

          การปล่อยให้ประชาชนดำเนินงานวัฒธรรมของตนเองในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ตามลำพัง
นั้นจะเป็นการปล่อยให้เป็น ภาระ ของประชาชนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงาน ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้กำหนดไว้ในหมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา ๒๙๐ ว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิจะจัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสม และตามความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานและระบบการศึกษาของชาติ การจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย
          และในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา ๖๗ ได้กำหนดให้งานวัฒนธรรมเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล กล่าวคือ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะใน (๕) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และ (๘) บำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
          และในพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ และ ๑๑ ได้กำหนดให้งานวัฒนธรรมเป็นอำนาจและหน้าที่ของเทศบาล กล่าวคือ ได้กำหนดให้เทศบาล มีหน้าที่ โดยเฉพาะใน (๘) บำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และ (๑๘) การส่งเสริมการกีฬา จารีต ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
          ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยได้ ออกแบบ โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร และอื่นๆ) ได้ทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง (ไข่ขาว) ที่ทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลให้ประชาชน (ไข่แดง) สามารถดำเนินงานวัฒนธรรมของตนเองได้จนประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำหน้าที่ในการสร้างโอกาส ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ดำเนินงานวัฒนธรรมในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ได้ โดยการจัดทำแผนงาน โครงการ และจัดสรรงบประมาณ ดังแสดงไว้ในภาพ ๒  


ภาพ ๒ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทในการโอบอุ้มดูแลให้ประชาชนสามารถดำเนิน
          งานวัฒนธรรม ในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การส่งเสริม/สนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรม : “อำนาจ และ หน้าที่ ของหน่วยงานของรัฐร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

          เพื่อจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง (ไข่ขาว) เพื่อทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลให้ประชาชน (ไข่แดง) ให้สามารถดำเนินงานวัฒนธรรมของตนเองในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ได้จนประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้กำหนดไว้ในหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ ๔ แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม มาตรา ๘๐ ว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ใน (๖) ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงาม และภูมิปัญญาท้องถิ่น  และในส่วนที่ ๙ แนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน มาตรา ๘๖ ว่า รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ ทรัพย์สินทางปัญญา และพลังงาน ใน (๒) ส่งเสริมการประดิษฐ์ หรือการค้นคิดเพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ รักษา และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
          ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยได้ ออกแบบ โดยกำหนดให้รัฐ (โดยหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆ) ได้ทำหน้าที่เป็น พี่เลี้ยง (เปลือกไข่) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อสารมวลชน และอื่นๆ เพื่อร่วมกันทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไข่ขาว) ได้ทำหน้าที่โอบอุ้มดูแลประชาชน (ไข่แดง) ให้สามารถดำเนินงานวัฒนธรรมของตนเองได้จนประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำหน้าที่ในการสร้างโอกาส ส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น และอำนวยความสะดวกให้ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนได้ดำเนินงานวัฒนธรรมในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม ได้ โดยการจัดทำแผนงาน โครงการ และจัดสรรงบประมาณ ตามความเหมาะสม
          ดังตัวอย่างคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ เห็นชอบหลักการและการนำไปสู่การปฏิบัติ ให้โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ : สร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมพลังทุกหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนสู่ชุมชน เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน โดย
          ๑. ให้ทุกกระทรวงที่มีงาน/โครงการที่สอดคล้องกับ โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ที่มีองค์รวมในการพัฒนา ๖ ด้าน ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพทางศิลปะและวัฒนธรรม การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ลานวัฒนธรรม ศูนย์ความรู้และห้องสมุดชุมชน และพิพิธภัณฑ์ชุมชน ได้นำกิจกรรมของกระทรวงลงในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนของทุกตำบลในจังหวัด
          ๒. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้นำ โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน บรรจุเป็นยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของจังหวัด
          ๓. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการ โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน และสนับสนุนงบประมาณตามความจำเป็น
             ดังแสดงไว้ในภาพ ๓  

ภาพ ๓ หน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรธุรกิจเอกชน สื่อสารมวลชน และอื่นๆ กับบทบาท
การเป็น พี่เลี้ยง (เปลือกไข่) โอบอุ้มดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไข่ขาว) ได้ทำหน้าที่
โอบอุ้มดูแลประชาชน (ไข่แดง) ให้สามารถดำเนินงานวัฒนธรรม ในฐานะ เจ้าของวัฒนธรรม
  ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 


เอกสารอ้างอิง


คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. (๒๕๓๕). ความหมายและขอบข่ายงานวัฒนธรรม.
          กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. (๒๕๓๔). นโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติ.
          กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. (๒๕๓๔). เพื่อความเข้าใจวัฒนธรรม : ประมวล
            ข้อคิดเห็นและทัศนะ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ.
ประเวศ วะสี. (๒๕๓๖). แนวคิดและยุทธศาสตร์ สังคมสมานุภาพและวิชชา. กรุงเทพมหานคร :
          มูลนิธิโกมลคีมทอง.
ประเวศ วะสี. (...). วัฒนธรรมกับการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ประเวศ วะสี. (๒๕๓๘). ยุทธศาสตร์ทางปัญญาแห่งชาติ:ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสังคม
            ทั้งหมดร่วมกัน. (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓) กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.
พระธรรมปิฎก.(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๓๘). วัฒนธรรมไทยสู่ยุคเป็นผู้นำและผู้ให้. (พิมพ์ครั้งที่ ๔)  
          กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์การศาสนา.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๓๖). “ชีวิตวัฒนธรรมกับความเชื่อในสังคมไทยใน นิธิ เอียวศรีวงศ์  ศรีศักร
          วัลลิโภดม และเอกวิทย์ ณ ถลาง. มองอนาคต : บทวิเคราะห์เพื่อการปรับเปลี่ยนทิศทาง
            สังคมไทย. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.
สมัชชาศิลปวัฒนธรรมไทยสภาผู้แทนราษฎร. (...). แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม
            ไทยวัฒนธรรมโลก. กรุงเทพมหานคร : สมชายการพิมพ์.
สิปปนนท์ เกตุทัต. (๒๕๔๒). ข้อเสนอเชิงนโยบายวัฒนธรรมของกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
          เอกสารประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๒ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ..
          ๒๕๔๒.
อานันท์ กาญจนพันธุ์. (๒๕๓๘). วัฒนธรรมกับการพัฒนา : มิติของพลังที่สร้างสรรค์.
          กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา.