จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การนำเสนอคุณค่าและแนวการทำงานด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน


               นอกจาก ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง จะได้สร้างความเข้าใจ เรื่อง วัฒนธรรมจนใช้เป็นหลักอ้างอิงในการทำงานด้านวัฒนธรรมของชาติแล้ว ดร.เอกวิทย์ยังได้ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิดในเรื่องของ ภูมิปัญญาชาวบ้าน

               จุดเปลี่ยนสำคัญในการเตือนสติให้เคารพและเรียนรู้จากชาวบ้านมากขึ้น คือการที่ ดร.เอกวิทย์ได้มาทำงานวัฒนธรรม และได้มีโอกาสรู้จัก นักปราชญ์ นักวิชาการ ผู้รู้ผู้ชำนาญหลายสาขา ตลอดจนชาวบ้านดีๆ เก่งๆ ทั้งยังได้ออกสู่ชนบทในฐานะ ผู้สนใจชีวิตและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ยิ่งทำให้ ดร.เอกวิทย์เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและศักยภาพของประชาชน ว่า เป็นมรดกที่สูงค่า ที่ยิ่งค้นยิ่งพบ ยิ่งมองยิ่งเห็น

               ในการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ภูมิปัญญาและกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านไทย ตามโครงการกิตติเมธี ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ดร.เอกวิทย์ได้อธิบายว่า พยายามที่จะไม่ให้คำนิยามของคำว่า ภูมิปัญญา เพราะเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นสิ่งที่กำหนดร่วมกัน แต่จะใช้ความหมายกว้างๆ ที่ครอบคลุมสิ่งที่เป็นมรดกทางปัญญาที่ได้พัฒนาใช้ในพื้นแผ่นดิน

               ดร.เอกวิทย์ได้ใช้เวลาเกือบ ๑๐ ปี ศึกษาประสบการณ์จากชาวบ้านที่เป็น คนไทยธรรมดา เมื่อผ่านประสบการณ์ชีวิตที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว ได้แสดงความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวสูง ได้ประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ จนเกิดทางเลือกมีหลักในการดำเนินชีวิตที่ช่วยให้เผชิญสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดร.เอกวิทย์ได้เดินทางไปพบปะสนทนา ศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้ของจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ จนกล่าวได้ว่า ดร.เอกวิทย์ เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่กี่คนนักที่เดินทางไปยังท้องไร่ ท้องนา เพื่อขอความรู้และให้กำลังใจแก่ชาวไร่ ชาวนา พระสงฆ์และผู้นำชาวบ้าน ภาพที่ดร.เอกวิทย์เดินทางไปกราบขอความรู้ ความคิดจากพ่อมหาปรีชา พิณทองที่อุบลราชธานี ลุยสวนเพื่อดูไร่นาสวนผสมและนอนพักค้างคืนที่บ้านของลุงชาลี มาระแสง ที่อุบลราชธานี เดินตามและสอบถามความรู้ความคิดจากผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง พ่อคำเดื่อง ภาษี มหาอยู่ สุนทรธัย พ่อจารย์บัวศรี ศรีสูงพ่อจารย์ทองดี  นันทะ ป๊ะหรน หมัดหลี กราบนมัสการหลวงพ่อนาน สุทธสีโล พระมหาจันทร์ พระราชสีมาภรณ์  นอนพักค้างคืนและพูดคุยกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม สนทนาซักถามกับพี่ตรีวุธ พาระพัฒน์ ครูชบ ยอดแก้ว และผู้นำชาวบ้านอีกจำนวนมากทั่วประเทศ นอกจากนั้น ดร.เอกวิทย์ยังเดินทางพบปะพูดคุย สอบถามและหาความรู้จากนักวิชาการที่ทำงานด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านไปทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยได้เดินทางไปพบกับ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ รองศาสตราจารย์อุดม หนูทอง ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว ศาสตราจารย์มณี พะยอมยงค์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อคิน รพีพัฒน์ ศาสตราจารย์นิจ หิญชีรนันท์ อังคาร กัลยาณพงษ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น นับว่าเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในวัฒนธรรมของราชการไทยที่บุคคลระดับอธิบดี จบการศึกษาระดับสูงสุดจากโลกตะวันตก จะเดินเข้าหาชาวบ้านและนักวิชาการอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อขอความรู้และความคิดต่างๆ จึงนับได้ว่า ดร.เอกวิทย์เป็นผู้ที่นำในการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างว่าการจะทำงาน วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น จะต้องไป เรียนรู้ จากชาวบ้าน ข้าราชการจะทำตัวเป็น ผู้รู้ แล้วไป สั่ง ให้ชาวบ้านทำโน่นทำนี่อย่างที่เคยปฏิบัติมานั้นไม่ได้

               จากการศึกษาอย่างจริงจังดังกล่าวข้างต้น ดร.เอกวิทย์ได้ประมวลลักษณะร่วมกันบางประการที่ได้พบในการศึกษาชุมชนที่มีความหลากหลายว่า

                        “ชาวบ้านมีคุณธรรมและจริยธรรมภาคปฏิบัติที่เขาตกลงกันเอง
                         ในหมู่บ้านมีผู้นำมีหลักแห่งความสมานฉันท์ที่จะดูแลกันเอง ทนกันเอง ไม่ให้เป็นอุปสรรค
                        ชาวบ้านจะรู้จักฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยความรู้จักคุณค่า เพื่อนำมาแก้ปัญหาได้ถูกจุด ถูกกาลเทศะ ในสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เขาเข้าใจความต้องการของเขาเอง เข้าใจภาวการณ์แวดล้อม
                        ชาวบ้านที่มีปัญญาอาจมีความรู้ระดับอ่านออกเขียนได้ แต่จะเข้าใจผลกระทบของระบบเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ในส่วนที่กระเทือนถึงตัวเขาระดับหนึ่ง จนสามารถตีบทแตก  สามารถหาทางเลือกซึ่งจะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้า และศักดิ์ศรีของตนเอง


                จากการวิจัยภูมิปัญญาชาวบ้านในภูมิภาคของประเทศ ตามโครงการกิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดร.เอกวิทย์ได้ข้อสรุปซึ่งสามารถประมวลเป็น กรอบความคิดเบื้องต้น เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านได้ในประเด็นหลักดังนี้
                    ๑) ภูมิปัญญาของชาวบ้านเกิดขึ้นจากการเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในสภาพแวดล้อมในแต่ละภูมิภาค
                    ๒) ภูมิปัญญาที่รับเข้ามาจากภายนอกจะได้รับการ ทดสอบ เลือกเฟ้น และดัดแปลง ให้สามารถแก้ปัญหา และตอบสนองต่อความต้องการในชุมชนนั้นๆ และยังเป็นพื้นฐานที่จะรองรับภูมิปัญญาใหม่ๆ ที่จะเข้ามาต่อไป
                ๓) ในสังคมไทย การปรับตัวของสังคมยังอาศัยรากฐานของภูมิปัญญาสั่งสมดั้งเดิม ทั้งโดย จิตสำนึกและใต้สำนึก ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบ ขุดรากถอนโคน
                    ๔) ภูมิปัญญาของคนไทยมีความหลากหลายตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และลักษณะสังคมที่แตกต่างกัน
                    ๕) ภูมิปัญญาในระดับพื้นฐาน เกิดจากการสะสมความรู้ และประสบการณ์อันยาวนาน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติในสังคม
               จากการศึกษาจนมั่นใจว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าดังกล่าวแล้ว ดร.เอกวิทย์ได้นำเสนอความคิดเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างจริงจังและต่อเนื่องนี้ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการคนแรกที่ได้เสนอความคิดนี้ ทั้งต่อสาธารณชนและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในระดับอธิบดี ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติแล้ว เสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีจนสามารถกำหนดเป็นกรอบและทิศทางแผนวัฒนธรรมแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๙) ได้ นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำให้ข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รู้ เข้าใจและเห็นความสำคัญของ ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยเช่นกัน

               นอกจากนั้นในฐานะที่ดร.เอกวิทย์ เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.เอกวิทย์ ได้ผลักดันให้นำความคิดเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ ๒๕๓๙) และได้ต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย

               จากที่กล่าวโดยสังเขปข้างต้นจะเห็นว่า ดร.เอกวิทย์ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ก็ด้วยสำนึกว่า คนไทยเรามีมรดกทางปัญญาสั่งสมไว้มากหากแต่เหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองจากภายนอกหลายทศวรรษต่อเนื่องกันทำให้คนไทยค่อนข้างจะเพิกเฉยต่อมรดกทางปัญญาของเรา โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจแล้วหักเหไปเรียนรู้ รับเอา และปรับตัวผิดๆ ถูกๆ ต่อกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วโลก จนกลายเป็น สากลนิยม ในการรับรู้ของเรา ยิ่งในสภาวะอย่างปัจจุบันด้วยแล้ว สังคมไทยได้ถูกกระแสสากลนิยมยุค โลกาภิวัตน์ผลักดันให้ปรับเปลี่ยนความคิด ระบบการผลิต และการบริโภค ท่าทีและความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต ในอัตราความเร็วที่มีอันตราย มีความเสี่ยงมากกว่าแต่ก่อนยิ่งนักสำนึกร่วมเกี่ยวกับภูมิปัญญาของเราเองในแผ่นดินนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พิจารณาได้ว่าเป็นพลังตอบโต้ความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกานุวัตรอย่างชัดแจ้ง เพื่อให้คนไทยได้สติหันมาทำความรู้จัก-ทำความเข้าใจภูมิหลังและรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเราเองให้มากขึ้น หาใช่เพื่อจะทวนกระแสความเจริญ หรือย้อนยุคหันกลับไปหลงใหลได้ปลื้มกับชีวิตในอดีตก็หาไม่ แต่เป็นปฏิกิริยาเชิงสร้างสรรค์เพื่อให้คนไทยสังคมไทย ดำรงอยู่และก้าวหน้าต่อไปอย่างมีดุลยภาพให้ทันโลก ขณะเดียวกันก็เป็นตัวของตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี มีความเชื่อมั่นและความภูมิใจในวัฒนธรรมของเราเองกล่าวให้เจาะจงลงไปอีกชั้นหนึ่ง การพัฒนาคนหรือการให้การศึกษาต่อคนของเรา เพื่อก้าวไปในอนาคต ไม่เพียงแต่เราคนไทยจะต้องรอบรู้วิทยาการใหม่ๆ เท่านั้นเราจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจภูมิปัญญาสั่งสมของเราเองในฐานะที่เรามีปัญญา มีรกรากพื้นเพทางวัฒนธรรมอันได้สั่งสม-สืบสานกันมาช้านาน และบัดนี้ก็ยังงอกเงยอยู่มิรู้จบ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างมีศักดิ์ศรีบนแนวทางที่ผสมผสาน ของดีที่เรามีอยู่เป็นทุนกับ ของใหม่ ที่เราเลือกดีแล้วว่าเหมาะแก่เรา

               และดร.เอกวิทย์ ได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ ดังนี้คือ
                    - เพื่อให้เข้าใจความหมาย คุณค่าและคุณลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้มีพัฒนาการมายาวนาน เพื่อจะได้นำความเข้าใจนั้นไปแพร่กระจายให้คนทั่วไป โดยเฉพาะลูกหลานไทยของเราได้เข้าถึงความหมายและคุณค่านั้น
                    - เพื่อให้คนในแผ่นดินนี้สามารถชื่นชมและภูมิใจในมรดกทางปัญญา มรดกวัฒนธรรมที่ได้สั่งสม สืบสานกันมาช้านาน แล้วช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สืบต่อให้ติดบนฐานความรู้ความเข้าใจภูมิปัญญาสั่งสมอย่างถูกต้อง
                    - เพื่อผดุงศักดิ์ศรี  เกียรติภูมิ ความงดงามและความแยบยลของภูมิปัญญาปรีชาญาณที่ได้มีผู้สร้างสรรค์และสั่งสมไว้ พร้อมกันนั้นก็ให้ยอมรับความจริงว่าภูมิปัญญาบางอย่างหมดสิ้นยุคขัยแล้ว หรือแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
                    - เพื่อค้นหาศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ ที่มีพลวัตอยู่ในชีวิตของสังคมไทยแล้วนำเอาศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ที่รู้จักมาเป็นฐานแห่งการปรับเปลี่ยน สร้างให้สืบต่อไปในการปรับตัวกับยุคสมัยในปัจจุบันและอนาคต
                    - เพื่อสร้างรอยต่อขุมข่ายแห่งการเรียนรู้ ตลอดจนสำนึกรู้ในสิ่งที่มีคุณค่าคู่แผ่นดิน แก่วงการศึกษา วงการวัฒนธรรม วงการพัฒนาและสาธารณสุขในอันที่จะเป็นพลังเกื้อกูลให้เกิดดุลยภาพของชีวิต และการดำรงอยู่ยั่งยืน โดยไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ภูมิปัญญาใหม่ในสถานการณ์ใหม่ที่จะมีมาในอนาคต