จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความทันสมัยในกระแสการพัฒนา : วิวัฒน์หรือวิบัติ

           
            ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง  ได้ตั้งคำถามเพื่อเตือนสติ และเชิญชวนให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดว่า สังคมทันสมัยที่มักจะเข้าใจกันว่าเป็นสงคมที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุและเครื่องอำนวยความสะดวกสบาย ซึ่งดูจะเป็นยอดปรารถนาของคนทั้งหลายจะทำให้คนเป็นสุขได้จริงหรือไม่ หรือจะต้อง วิ่งไล่ตามความทันสมัย อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสนองตัณหาความต้องการที่ถูกกระพือโหมด้วยกระแสทุนนิยม และแรงโฆษณาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ดังพุทธวจนะที่ ดร.เอกวิทย์ได้ยกขึ้นเปรียบเปรยว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหามนุษย์หามีไม่

            สังคมทันสมัยจึงเป็นสังคมที่ผู้คนมี ทุกข์ทางใจ เพราะต้องเหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานกับการปรับตัวปรับใจ ปรับวิถีชีวิตเข้าสู่ลู่แข่งขัน เพื่อไขว่คว้าไล่ตามกระแสความทันสมัย กระแสความโลภ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสมีชีวิตที่ทันสมัยตามมาตรฐานของโลกตะวันตกได้  และแม้ในกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีโอกาส จะพบว่าความทันสมัยทางวัตถุที่แสวงหานั้นจะกลายเป็นความล้าสมัยในเวลาไม่ช้านาน การก้าวตามความทันสมัยทางวัตถุที่เป็นกระแสของสังคมในปัจจุบัน จึงเป็นการก้าวไปสู่ ความหายนะ ดร.เอกวิทย์ได้ชี้ว่าความทันสมัยที่พึงแสวงหาและยกย่อง คือความทันสมัยที่วางอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมชาวพุทธ ซึ่งได้แก่  ความทันสมัยทางความคิด สติปัญญา ทันสมัยในการรู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันวิทยาการใหม่ๆ รู้เท่าทันกิเลสของตน และของคนอื่น

            ดร.เอกวิทย์จึงเสนออย่างมั่นใจว่าสังคมไทยมีทางรอดเหลืออยู่ทางเดียวคือ ความกล้าที่จะสละวิถีชีวิตและความเชื่อที่จะนำไปสู่ความหายนะ และหันกลับมาเคารพความจริงในธรรมชาติ และกลับคืนสู่ชีวิตที่เรียบง่าย เปลี่ยนวิถีและทิศทางการพัฒนา จากการมุ่งควบคุมและพิชิตธรรมชาติรอบตัวสู่การควบคุมและพิชิตธรรมชาติในตัวมนุษย์เองซึ่ง ดร.เอกวิทย์ได้เสนอว่าทางเลือกในอนาคตสำหรับคนไทยคือจะต้อง ฝึกคนให้มีสัมมาทิฐิใหม่ มีโลกทัศน์ใหม่ มีชีวทัศน์ใหม่ ทั้งยังจะต้องหันกลับมารู้จักตนเองและใช้พลังศักยภาพที่มีอยู่ในสังคมไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพที่เกิดจาก วัฒนธรรมชาวพุทธ และปัญญาทางพุทธศาสนาวัฒนธรรมเครือญาติ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ระบบนิเวศที่ฟื้นฟูได้ และความสามารถในการเรียนรู้ และประสานประโยชน์ของคนไทย ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติที่เอื้อต่อการพัฒนา และจะช่วยให้คนไทยสามารถเลือกสรรที่จะใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยความเข้าใจใน คุณอนันต์และโทษมหันต์ของวิทยาศาสตร์ ด้วยความตระหนักสำนึกใน คุณค่าของปรีชาญาณ ที่สังคมได้สั่งสมมาช้านาน และด้วยความเข้าใจใน พุทธ ธรรม ที่ช่วยให้สามารถที่จะมองลึกเข้าไปเกินกว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ หรือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เรารู้เราเข้าใจได้